ประกวดวาดการ์ตูน 4-6 ช่อง ปี 2
แผนกจริยธรรมการวิจัยและงานเสริมสร้างความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของมวลชน หน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์-ฟอร์ด (MORU) ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ขอเชิญผู้สนใจอายุ 15 - 22 ปี ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดวาดการ์ตูน 4-6 ช่อง ปี 2 ในงานสัปดาห์รู้รักษ์ตระหนักใช้ยาต้านจุลชีพ 2567 ชิงเงินรางวัล พร้อมใบประกาศนียบัตร
วัตถุประสงค์
เพื่อสนับสนุนเยาวชนที่มีความคิดสร้างสรรค์และความสามารถทางด้านศิลปะ ให้มีบทบาทในการช่วยรณรงค์สร้างความเข้าใจและความตระหนักเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) สู่สาธารณะ กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในงานสัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านจุลชีพ ปี 2567
คุณสมบัติผู้สมัคร
- นักเรียน นักศึกษา หรือประชาชนทั่วไป ที่มีอายุระหว่าง 15-22 ปี
- สามารถสมัครเดี่ยว หรือกลุ่ม มีสมาชิกได้ไม่เกิน 3 คน
- ส่งผลงาน 1 คนหรือกลุ่ม ต่อ 1 ผลงานเท่านั้น
กติกาการประกวด
- สร้างสรรค์ผลงานโดยการเล่าเรื่องในรูปแบบการ์ตูน 4-6 ช่อง ในขนาด A4 จำนวน 1 หน้า
- หัวข้อในการสร้างสรรค์ผลงาน จะอยู่ภายใต้หัวข้อการรณรงค์ขององค์การอนามัยโลกในปี 2567 คือ Educate. Advocate. Act now. เพื่อให้เยาวชนได้มีบทบาทในการร่วมรณรงค์ จึงมี 3 หัวข้อให้เลือก ดังนี้
- เชื้อดื้อยาและถิ่นที่อยู่
เชื้อดื้อยาเกิดมาจากเชื้อจุลชีพที่สามารถพบเจอได้ทั่วไป และอาศัยอยู่แทบทุกที่รอบๆตัวเรา แม้กระทั่งในที่ที่เราคาดไม่ถึง ทำให้ปัญหาเชื้อดื้อยาไม่ได้หยุดอยู่แค่ที่โรงพยาบาลเท่านั้น แต่มีความลึกลับซับซ้อนเกี่ยวโยงกับทั้งสิ่งแวดล้อม พืช และสัตว์ชนิดต่างๆที่อยู่รอบตัวเรา หรือแม้แต่อาหารที่อยู่ในจานที่เราทานประจำ และในเมื่อทุกๆอย่างเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว ตกลงแล้วเชื้อดื้อยาอยู่ที่ไหนบ้าง? เราจะสืบหาและไฝว้กับมันได้อย่างไร? - เชื้อดื้อยาในโลกอนาคต
ในปัจจุบันเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่หลายฝ่ายพยายามร่วมมือกันเพื่อหาทางแก้ไข แล้วในอีก 30 ปีต่อจากนี้ สถานการณ์เชื้อดื้อยาจะเป็นเช่นไร? จุลชีพก่อโรคจะปรับตัวจนดื้อต่อยาต้านจุลชีพได้เกือบทุกชนิดจนการติดเชื้อเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้ถึงตายได้หรือไม่? หรือเราจะสามารถร่วมมือกันหาวิธีแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปราบเชื้อดื้อยาได้อย่างอยู่หมัด? - ไฝว้กับเชื้อดื้อยายังไงให้รอด
เชื้อดื้อยา มีต้นกำเนิดมาจากกระบวนการวิวัฒนาการของจุลชีพต่างๆซึ่งมีอยู่แทบทุกที่ในธรรมชาติ การเกิดเชื้อดื้อยาจึงเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และไม่สามารถหยุดยั้งได้ แต่เราสามารถที่จะเรียนรู้ หาวิธีเพื่อชะลอการเกิดเชื้อดื้อยา และค้นคว้าหายาใหม่ๆมา ‘ไฝว้’ กับเชื้อดื้อยาที่เกิดขึ้นมาใหม่ ผลัดกันรับ ผลัดกันสู้ เพื่อให้เรารอดพ้นจากวิกฤตเชื้อดื้อยาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เปรียบเสมือนการ ‘ร่ายรำ’ ไปพร้อมๆกันกับเชื้อดื้อยา
- เชื้อดื้อยาและถิ่นที่อยู่
- เป็นผลงานใหม่ ไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อน และสร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเองเท่านั้น
- ไม่จำกัดเทคนิคในการวาด และรูปแบบในการจัดช่อง
- ได้ทั้งภาพสีและขาวดำ
- เขียนเนื้อหาเป็นภาษาไทย และเป็นคำพูดของตัวเอง
- ส่งผลงานในรูปแบบ JPG, PNG หรือ PDF
- ห้ามมิให้นำผลงานภาพดิจิทัลอาร์ตของผู้อื่นมาส่งแทน หากตรวจพบจะตัดสิทธิ์การเข้าประกวด
- หากมีการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานของผู้อื่น หรือมีลักษณะละเมิดกฎหมาย ถ้ามีข้อพิพาททางกฎหมาย ไม่ว่าในกรณีใดเกิดขึ้น ถือเป็นความรับผิดชอบของผู้ส่งผลงานเข้าประกวด
คีย์เวิร์ดที่แนะนำในการค้นหาข้อมูล
เชื้อดื้อยา, สุขภาพหนึ่งเดียว, ยาต้านจุลชีพ, การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์, การใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุผล, เชื้อดื้อยาในสิ่งแวดล้อม
ระยะเวลา
- เปิดรับผลงานตั้งแต่ 15 ตุลาคม - 15 พฤศจิกายน 2567
- ประกาศผลวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ผ่าน FB page สาระ ณ สุข: เพจที่ให้สาระด้านสาธารณสุข
- วันรับรางวัลจะประกาศให้ทราบในวันประกาศผล
คณะกรรมการ
- ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี - ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อดื้อยา
- ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล - แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อดื้อยา
- คุณโชคดี สมิทธิ์กิตติผล- ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
- ผศ.ดร. ป๋วย อุ่นใจ - นักวิทยาศาสตร์และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์
- คุณทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ - นักวาดการ์ตูน
- เดอะดวง - นักวาดการ์ตูน
- คุณดนยา วสุวัต - ตัวแทนจากภาคประชาชน
- คุณภูริต ตันติดิษย์ - ตัวแทนจากภาคประชาชน
- คุณณฐินี กุลพิจิตร - ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์
กรรมสิทธิ์
ผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะนำไปใช้เพื่อการรณรงค์และสื่อสารเรื่องเชื้อดื้อยา โดยจะไม่มีการแสวงหาผลกำไร ผลงานทั้งหมดถือเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของหน่วยวิจัยโรคเขตร้อนมหิดล-อ๊อกซ์ฟอร์ด และศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) อย่างไรก็ตาม การนำผลงานไปใช้จะมีการระบุชื่อเจ้าของผลงานไว้ใต้ภาพเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าของผลงาน
รางวัลการประกวด
- รางวัลชนะเลิศ: เงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร จำนวน 1 รางวัล
- รองชนะเลิศอันดับ 1: เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร จำนวน 1 รางวัล
- รองชนะเลิศอันดับ 2: เงินรางวัล 5,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร จำนวน 1 รางวัล
- รางวัลชมเชย: เงินรางวัล 1,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร จำนวน 5 รางวัล
ติดต่อสอบถาม
www.facebook.com/saranasuk