^ Back to Top

ประกวด “i, MedBot 2014” BRING LIFE, BRIGHTEN THE WORLD

ประกวด “i, MedBot 2014” BRING LIFE, BRIGHTEN THE WORLD

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขอเชิญผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด “i, MedBot 2014” BRING LIFE, BRIGHTEN THE WORLD ชิงรางวัลมูลค่ารวมกว่า 300,000 บาท 

การประกวด “i, MedBot 2014” BRING LIFE, BRIGHTEN THE WORLD
เสนอแนวคิดสร้างสรรค์ในการสร้างเสริม พัฒนา ป้องกัน และแก้ปัญหาสุขภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิต สนองความต้องการของคนไทยทุกเพศทุกวัย โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตอบโจทย์ปิดช่องว่างและสร้างโอกาสของการพัฒนา บนฐานของเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบันและมีโอกาสนำมาใช้งานได้จริง

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อแสวงหาแนวคิดการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้ในด้านการแพทย์หรือสุขภาพ บนฐานของเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน
  2. เพื่อสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ผู้มีความคิดสร้างสรรค์ได้นำเสนอแนวคิดในการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ไปสร้างรูปแบบการใช้งานใหม่ในด้านการแพทย์หรือสุขภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและผู้ใช้ และสร้างโอกาสในการต่อยอดแนวคิดที่มีศักยภาพไปสู่การสร้างนวัตกรรม ผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนาต่อไป
  3. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ให้สามารถขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการสร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง และสามารถเข้าถึงประชาชนทั่วไปได้โดยง่าย
  4. เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับหุ่นยนต์ทางการแพทย์หรือสุขภาพ

รางวัลการประกวด

  • รางวัลที่ 1 ได้รับใบประกาศเกียรติคุณพร้อมเงินรางวัล 150,000 บาท
  • รางวัลที่ 2 ได้รับใบประกาศเกียรติคุณพร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท
  • รางวัลที่ 3 ได้รับใบประกาศเกียรติคุณพร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท

ทั้งนี้ผู้ได้รับรางวัลจะต้องรับภาระภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ทรัพย์สินทางปัญญา
แนวคิดที่ส่งเข้าประกวดถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของผู้สร้างสรรค์ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) จะดำเนินการเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้กับแนวคิดที่ผ่านเข้าสู่รอบของการประกวดภายใต้เงื่อนไขที่จะมีการตกลงกันต่อไป ทั้งนี้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) จะไม่รับผิดชอบในทุกกรณีหากพบในภายหลังว่า แนวคิดที่ส่งเข้าประกวดมีการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น

คุณสมบัติผู้สมัคร

  • ไม่จำกัดสัญชาติ อายุ และเพศ
  • สามารถส่งแนวคิดได้ทั้งรายบุคคลและทีม โดยไม่จำกัดจำนวนสมาชิกในแต่ละทีม
  • ผู้สมัครแต่ละคนสามารถเป็นสมาชิกได้ไม่เกิน 3 ทีม
  • แต่ละทีมสามารถส่งแนวคิดได้ 1 แนวคิด
  • ผู้สมัครสามารถจัดหาผู้สนับสนุนได้ อย่างไรก็ตามหากแนวคิดผ่านเข้าสู่รอบของการประกวด ผู้สนับสนุนต้องยินยอมให้สามารถเผยแพร่แนวคิดต่อสาธารณะได้
  • ผู้สนับสนุนโครงการประกวด ไม่สามารถให้การสนับสนุนผู้สมัครได้

กฎกติกาการประกวด
แนวคิดที่เสนอต้องเป็นของผู้สมัคร โดยไม่ลอกเลียนแบบผู้อื่น หรือนำผลงานของบุคคลอื่นมาแอบอ้าง ทั้งนี้คณะกรรมการขอสงวนสิทธิ์ไม่พิจารณาผลงานที่มีการลอกเลียนแบบ หรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ทั้งนี้หากพบในภายหลังการพิจารณาว่ามีการกระทำดังกล่าว คณะกรรมการจะถือว่าการพิจารณาแนวคิดนั้นเป็นโมฆะ และจะไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นทั้งสิ้น

เกณฑ์การตัดสิน

  • ความสอดคล้องกับโจทย์ในการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้ในด้านการแพทย์หรือสุขภาพ
  • การมีหลักการใหม่ หรือประยุกต์ใช้หลักการในเรื่องอื่นมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในรูปแบบใหม่
  • ความเป็นไปได้ในการพัฒนาบนฐานของเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน
  • ศักยภาพในการนำแนวคิดไปพัฒนาให้เกิดขึ้นได้จริงและสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์

ทั้งนี้การพิจารณาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการ และคำตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด โครงการจัดการประกวดขอสงวนสิทธิ์การโต้แย้งต่อผลการตัดสินในทุกกรณี

ระเบียบขั้นตอนและรูปแบบการประกวด
ผู้สมัครส่งข้อเสนอแนวคิดตามรูปแบบที่กำหนด ความยาวไม่เกิน 3 หน้ากระดาษ A4 (รวมภาพประกอบ) ในรูปแบบ pdf หรือ doc/docx ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผ่านระบบ online โดยอธิบายที่มาและหลักการคร่าวๆ ของแนวคิด พร้อมระบุเทคโนโลยีที่รองรับและกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ใช้ และอาจมีข้อมูลเสริมเป็นไฟล์แนบในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งดังต่อไปนี้ โดยมีขนาดไม่เกิน 50 MB

  • วิดีโอประกอบความยาวไม่เกิน 3 นาที ในรูปแบบ avi, wmv, mov, mp4, mpeg หรือ 3gp และไม่ใช้ special codecs (coders/decoders) ต่างๆ ซึ่งอาจทำให้คณะกรรมการไม่สามารถเปิดไฟล์ได้
  • สไลด์ไม่เกิน 10 สไลด์ ในรูปแบบ pdf หรือ ppt/pptx
  • สียงประกอบความยาวไม่เกิน 3 นาที ในรูปแบบ wav, wma หรือ mp3

หลังจากได้รับข้อเสนอแนวคิด คณะกรรมการจะทำการคัดเลือกและแจ้งผลแนวคิดที่ผ่านเข้าสู่รอบของการประกวด โดยทีม/บุคคลที่แนวคิดผ่านการคัดเลือกจะต้องมานำเสนอแนวคิดบนเวทีประกวด i, MedBot 2014 ต่อคณะกรรมการ เพื่อคัดเลือกแนวคิดที่จะได้รับรางวัล 3 อันดับ โดยมีผู้นำเสนอบนเวทีไม่เกิน 5 คนและนำเสนอรวมไม่เกิน 5 นาทีต่อทีม

ขอบเขตแนวคิดของ i, MedBot
การนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้ในด้านการแพทย์หรือสุขภาพครอบคลุมการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้ใน 3 กลุ่มหลัก ดังนี้

  • การตรวจคัดกรอง การวินิจฉัย การรักษา และการผ่าตัด เช่น หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด หุ่นยนต์เสริมการรังสีวินิจฉัย หุ่นยนต์กล้องเอนโดแบบแคปซูล หุ่นยนต์ที่ใช้ระบบเซ็นเซอร์และคัดกรองแบบอัตโนมัติ เป็นต้น
  • การฟื้นฟูทางการแพทย์ สุขภาพ และสุขภาวะ เช่น หุ่นยนต์เสริมสมรรถนะคนพิการ หุ่นยนต์บำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยทางสมอง แขนขาเทียมแบบฉลาด เป็นต้น
  • การบริการทางการแพทย์หรือสุขภาพ และการติดตามเฝ้าระวัง เช่น หุ่นยนต์ต้อนรับในโรงพยาบาล หุ่นยนต์ช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วย หุ่นยนต์นำส่งยา หุ่นยนต์ใช้ในการตรวจสารทางเทคนิคการแพทย์ หุ่นยนต์ระดับนาโน หุ่นยนต์ที่ใช้ระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และระบบการเฝ้าระวังทางไกล (Remote Monitoring System) เป็นต้น

ทั้งนี้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในที่นี้ครอบคลุมเทคโนโลยีใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ทั้งในด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ วัตถุตรวจจับ (sensor) เทคโนโลยีสารสนเทศ และปัญญาประดิษฐ์ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง

กำหนดเวลา

  • เปิดรับข้อเสนอแนวคิด วันที่ 1 มิถุนายน 2557 - 30 มิถุนายน 2557
  • แจ้งผลการคัดเลือกแนวคิดที่ผ่านเข้ารอบเพื่อนำเสนอบนเวทีประกวด i, MedBot 2014 วันที่ 15 สิงหาคม 2557
  • งานประกวด i, MedBot 2014 วันที่ 6 กันยายน 2557

กิจกรรมเสริม

  • การศึกษาดูงาน ณ สถานประกอบการ วันที่ 28 พฤษภาคม 2557
  • Workshop ซึ่งประกอบด้วยการบรรยายและกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และเห็นช่องว่างและโอกาสของการพัฒนา วันที่ 31 พฤษภาคม 2557

ทั้งนี้ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมเสริมข้างต้นสามารถลงทะเบียนผ่านระบบ online (รับสมัครจำนวนจำกัด) โดยจะได้รับอีเมล์ยืนยันการลงทะเบียนภายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ทั้งนี้การเข้าร่วมกิจกรรมเสริมไม่มีผลต่อการพิจารณาให้คะแนนของคณะกรรมการ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

  • ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)
    เลขที่ 69 อาคารมิว ชั้น 22 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 
  • Telephone: +662 644 5499 ext 1
  • Fax: +662 644 953
  • Email: imedbot@tcels.or.th
Total Prize Money: 
300,000 Baht
Deadline: 
01 Jun 2014 10:00 to 30 Jun 2014 16:00

Members Online

There are currently 0 users online.