^ Back to Top

การประกวดเพลง "เพชรในเพลง"

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ขอเชิญนักร้อง นักแต่งเพลง หน่วยงานต้นสังกัด องค์กรที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดเพลง "เพชรในเพลง" เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๗ เพื่อยกย่องบุคคลในวงการเพลงผู้มีผลงานดีเด่นด้านการใช้ภาษาไทย และสนับสนุนให้มีการสร้างสรรค์ผลงานอย่างมีคุณภาพทั้งการประพันธ์คำร้องและผู้ขับร้อง ชิงรางวัลเงินสด พร้อมพระคเณศของกรมศิลปากร และลิขสิทธิ์จะยังคงเป็นของเจ้าของผลงานเพลง

๑. การประกวด
แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท  คือ รางวัลเชิดชูเกียรติผู้สร้างสรรค์เพลงดีเด่น ในอดีต รางวัลสำหรับเพลงดีเด่นในปัจจุบัน ทั้งประเภทการประพันธ์คำร้องและผู้ขับร้อง และรางวัล เชิดชูเกียรติพิเศษ ดังนี้ 

  • รางวัลเชิดชูเกียรติผู้สร้างสรรค์เพลงดีเด่นในอดีต
    • รางวัลเชิดชูเกียรติผู้สร้างสรรค์เพลงดีเด่นในอดีตประเภทเพลงไทยสากล
    • รางวัลเชิดชูเกียรติผู้สร้างสรรค์เพลงดีเด่นในอดีตประเภทเพลงไทยลูกทุ่ง
  • รางวัลการประพันธ์คำร้อง “ใช้ภาษาไทยดีเด่น”
    • การประพันธ์คำร้องเพลงไทยสากล
    • การประพันธ์คำร้องเพลงไทยลูกทุ่ง
  • รางวัลผู้ขับร้อง “ใช้ภาษาไทยดีเด่น”
    • ผู้ขับร้องเพลงไทยสากล  ชาย
    • ผู้ขับร้องเพลงไทยสากล  หญิง
    • ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่ง  ชาย
    • ผู้ขับร้องเพลงไทยลูกทุ่ง  หญิง
  • รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ

ผู้มีสิทธิ์ส่งเพลงเข้าประกวด

  • ศิลปินเพลง หมายถึง  นักร้อง  นักแต่งเพลง
  • หน่วยงานต้นสังกัด หมายถึง บริษัท  ค่ายเพลงหรือองค์กรที่เป็นต้นสังกัดของศิลปิน 
  • องค์กรที่เกี่ยวข้อง  เช่น  สมาคมนักร้องแห่งประเทศไทย  สมาคมนักแต่งเพลง แห่งประเทศไทย  สถาบันการศึกษา ฯลฯ
  • บุคคลทั่วไป  

​ทั้งนี้ ขอสงวนสิทธิ์สำหรับศิลปินที่ได้รับรางวัลชนะเลิศติดต่อกัน ๓ ปี ให้งดส่งผลงาน ๒ ปีนับแต่ปีที่ได้รับรางวัลปีสุดท้าย

คุณสมบัติของเพลงที่ส่งเข้าประกวด
เพลงไทยสากล และเพลงไทยลูกทุ่ง ต้องเป็นเพลงที่ประพันธ์คำร้องขึ้นใหม่และเผยแพร่ สู่สาธารณชนระหว่างเดือนมีนาคม ๒๕๕๖ – เดือนมีนาคม ๒๕๕๗

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเพลง

  • เพลงไทยสากล และเพลงไทยลูกทุ่ง 
    • ประเภทการประพันธ์คำร้อง  พิจารณาจากเนื้อหาสาระในเชิงสร้างสรรค์ การนำเสนอที่สอดคล้องเหมาะสมกับลักษณะของเพลง ความงดงามในการใช้ภาษาเชิงวรรณศิลป์ ความไพเราะในถ้อยคำสำนวน และการร้อยเรียงเสียงสอดคล้องกับทำนองเพลง แสดงให้เห็นถึงความสามารถด้านการประพันธ์และความประณีตในการเลือกใช้ถ้อยคำเป็นแบบอย่างในการใช้ภาษาไทย
    • ประเภทผู้ขับร้อง พิจารณาจากน้ำเสียง ความชัดเจนในการออกเสียงถ้อยคำ ศิลปะการใช้เสียงกลมกลืนกับดนตรี  จังหวะและอารมณ์ในการ ขับร้อง
  • รางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ เช่น การขับร้องคู่ การขับร้องหมู่ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการ
  • รางวัลเชิดชูเกียรติผู้สร้างสรรค์เพลงดีเด่นในอดีต  คณะกรรมการจะเป็นผู้พิจารณา คัดสรรเพลงที่มีคุณสมบัติเหมาะสม  เพื่อนำเสนอที่ประชุมพิจารณามอบรางวัล

การส่งผลงานเพลงเข้าประกวด

  • ค่ายเพลง สมาคม และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ส่งผลงานเพลงได้ไม่เกินประเภทละ ๓ เพลง
  • ศิลปินเพลงและบุคคลทั่วไป ส่งผลงานเพลงได้ไม่เกินประเภทละ ๓ เพลง
  • ประเภทการประพันธ์คำร้อง ส่งผลงานเพลง (เนื้อเพลง) ชื่อผู้แต่งคำร้อง พร้อม Audio CD ผลงานเพลง  จำนวน ๒ ชุด
  • ประเภทผู้ขับร้อง ส่งผลงานเพลง (เนื้อเพลง)  ชื่อนักร้อง  พร้อม Audio CD ผลงานเพลง  จำนวน ๒ ชุด  
  • ในกรณีที่ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดบุคคลทั่วไป  ขอให้แนบประวัติโดยสังเขป  ความยาวประมาณ ๑ หน้ากระดาษ เอ ๔ และภาพถ่าย เพื่อสะดวกในเรียบเรียงประวัติในกรณีที่ท่านได้รับรางวัล
  • กำหนดส่งผลงานด้วยตนเองหรือทางไปรษณีย์ ภายในวันที่ ๒๐ มีนาคม  ๒๕๕๗ โดยระบุชื่อผู้ส่งที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้
  • สถานที่ส่งผลงาน สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ๘๑/๑ อาคารกรมศิลปากร
     ถนนศรีอยุธยา  แขวงวชิรพยาบาล  เขตดุสิต  กรุงเทพ ฯ  ๑๐๓๐๐
    สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โทร. ๐ ๒๖๒๘ ๕๐๒๑ ต่อ ๕๒๒ หรือ ๕๐๗ และ ๐ ๒๒๘๑ ๑๑๕๓​

การตัดสิน

  • กรมศิลปากรจะแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะกรรมการตัดสินเพลงที่ส่งเข้าประกวด
  • คณะกรรมการตัดสินสงวนสิทธิ์ที่จะไม่ให้รางวัลใด หากผลงานที่ส่งเข้าประกวดไม่ถึงขั้นที่จะได้รับรางวัล
  • การตัดสินของคณะกรรมการฯ ถือเป็นเด็ดขาดจะอุทธรณ์มิได้​

รางวัล

  • รางวัลชนะเลิศและรางวัลเชิดชูเกียรติ ประเภทละ ๑ รางวัล ส่วนรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ ไม่เกิน ๓ รางวัล (รวม ๑๑ - ๑๔ รางวัล)  จะได้รับพระคเณศของกรมศิลปากร และเงินสดจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท 
  • รางวัลชมเชย  ประเภทละ ๒ รางวัล (รวม ๑๒ รางวัล) จะได้รับพระคเณศของกรมศิลปากร  และเงินสด ๕,๐๐๐ บาท  เว้นรางวัลเชิดชูเกียรติเพลงดีเด่นในอดีตและรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษจะไม่มีรางวัลชมเชย​

การเผยแพร่ผลงาน 

  • ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทต่างๆ  จะต้องแสดงผลงานเพลงในวันมอบรางวัล
  • กรมศิลปากรขออนุญาตเผยแพร่ผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลในงานวันภาษาไทย  แห่งชาติ  พุทธศักราช ๒๕๕๗  ซึ่งกรมศิลปากรเป็นผู้จัด และเผยแพร่ทางสื่อมวลชนในโอกาสที่เหมาะสม เพื่อเชิดชูเกียรติคุณผู้ที่ได้รับรางวัล 

ทั้งนี้  ลิขสิทธิ์ผลงานเพลงที่ได้รับรางวัลยังคงเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์เดิม

File attachments: 
หมดเขต: 
10 ก.พ. 2014 10:00 to 20 มี.ค. 2014 16:00

Members Online

There are currently 0 users online.