^ Back to Top

ประกวด “เยาวชนใช้วิทย์ฯ คิดเพื่อสิ่งแวดล้อม”

ประกวด “เยาวชนใช้วิทย์ฯ คิดเพื่อสิ่งแวดล้อม”

คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ขอเชิญนิสิต นักศึกษา ในระดับอุดมศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ (ระดับ ปวส ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก) และนักศึกษาที่จบการศึกษามาแล้วไม่เกิน 2 ปี (สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 เป็นต้นไป) ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดโครงการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ เพื่ออนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม

หลักการและเหตุผลของโครงการ
การกระตุ้นจิตสำนึกและปลูกฝังให้นิสิต นักศึกษา เกิดความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้น การนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ปัญหามลพิษทางอากาศ น้ำ ดิน เสียง ระบบนิเวศน์ที่อยู่รอบๆตัว และชุมชน โดยการสังเกตและศึกษาปัญหาให้ลึกซึ้งถึงสาเหตุ หาทางควบคุมและแก้ไขปัญหาที่พบ พร้อมทั้งหาแนวทางป้องกัน เพื่ออนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ย่อมก่อให้เกิดแนวความคิดแบบบูรณาการโดยนำปัญหาที่พบและหลักวิชาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ศึกษามาคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์และประยุกต์ สร้างงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ เพื่อนำมาแก้ไขและป้องกันปัญหาต่างๆ อย่างถูกทิศทาง และในงานการประกันคุณภาพการศึกษากำหนดไว้ให้สถาบันการศึกษามีส่วนร่วมชี้นำ แก้ไขและหาทางป้องกันปัญหาของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน ประกอบกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางการศึกษาและไม่ใช่ทางการศึกษาต้องร่วมมือกัน ดังนั้นการบูรณาการใช้เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ทุกแขนงเพื่อการแก้ปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสร้างกิจกรรมที่แก้ไขได้อย่างเป็นรูปธรรมจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้นคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จึงตระหนักถึงความสำคัญที่จัดทำโครงการ และดำเนินการจัดกิจกรรมการประกวดโครงการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมระดับอุดมศึกษาชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้หัวข้อ “เยาวชนใช้วิทย์ ฯ คิดเพื่อสิ่งแวดล้อม” เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนา การจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณของเสียและปัญหามลพิษ รวมถึงการใช้และเพิ่มคุณค่าการใช้ทรัพยากรต่างๆ ทั้งนี้การจัดกิจกรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสมาคมศิษย์เก่า มจพ. และบริษัท ท็อปกัน จำกัด ในด้านของรางวัลการแข่งขันและการจัดทำสื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการ

วัตถุประสงค์
1. เพื่อส่งเสริมให้เกิดโครงการวิจัย โครงงานพิเศษ  สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่บูรณาการทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของนักศึกษาระดับอุคมศึกษา
2. เพื่อกระตุ้น สร้างแรงจูงใจและจิตสำนึกให้นิสิต นักศึกษา ตระหนักและเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม
3. เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์ที่มีทักษะในการคิด วิเคราะห์และปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
4. เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อม

กลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงาน ได้แก่ นิสิต นักศึกษา ในระดับอุดมศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศ (ระดับ ปวส. ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก) และนักศึกษาที่จบการศึกษามาแล้วไม่เกิน 2 ปี (สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 เป็นต้นไป)

ประเภทของการให้รางวัลและรางวัลในการประกวด
ผลงานโครงการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม หมายถึง ผลงานงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้น  สร้างขึ้นมาสำหรับใช้ในการแก้ไขปัญหามลภาวะของสิ่งแวดล้อม เช่น การกำจัดขยะ มลพิษทางอากาศ ปัญหาน้ำเน่าเสีย และ การผลิตพลังงานจากธรรมชาติ เช่น การใช้วัตถุดิบที่เหลือจากภาคเกษตรกรรม ขยะมูลฝอยที่ก่อให้เกิดปัญหาทางสิ่งแวดล้อม และ/หรือ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการประหยัดพลังงาน ฯลฯ

รางวัลการประกวด มีดังนี้
รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1               มี 1 รางวัลๆ ละ   25,000 บาท พร้อมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1          มี 1 รางวัลๆ ละ   20,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2          มี 1 รางวัลๆ ละ   15,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
รางวัลชมเชย                              มี 2 รางวัลๆ ละ     5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร
รางวัลผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย            มี 30 รางวัลๆ ละ   2,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร 

ข้อกำหนดของการประกวด
1.  ผลงานที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นผลงานที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้ส่งผลงานมีสถานภาพเป็นนักศึกษา โดยผู้ส่งเข้าประกวดต้องเป็นนักศึกษาระดับอุดมศึกษา (ระดับ ปวส. ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก) หรือเป็นนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษามาแล้วไม่เกิน 2 ปี (สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 เป็นต้นไป)
2.  เป็นงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ที่ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดคิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นมาเองหรือดัดแปลงต่อยอดจากผลงานเดิม
3.  เป็นงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้การออกแบบสร้างสรรค์ เทคโนโลยี โปรแกรม หรือผสมผสานทั้งสามอย่างเข้าด้วยกัน เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
4.  ต้องมีการลงนามรับรองจากอาจารย์ที่ปรึกษาว่าผลงานที่ส่งเข้าประกวดเป็นผลงานร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา
5.  ผลการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด

เกณฑ์การพิจารณาการให้คะแนนงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์
1.  ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
2.  เทคนิค การออกแบบ วิธีการประดิษฐ์หรือวิธีวิจัย รวมถึงความถูกต้องเชิงหลักการทางวิทยาศาสตร์หรือวิชาการ
3.  การใช้งาน
•  สิ่งประดิษฐ์  เน้นประสิทธิภาพการใช้งาน
•  งานวิจัย เน้นแนวโน้มการนำไปใช้งานได้จริง
4.  ผลกระทบและประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อม หรือความมีคุณค่าเชิงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ก้าวหน้า
5.  เศรษฐศาสตร์ (ต้นทุนการผลิต สามารถจัดเข้าสู่ต้นแบบแล้วนำไปพัฒนาต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ นำไปสู่การจดสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร) เช่น สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานทางวิชาการ

คุณสมบัติของผลงานโครงการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ที่เสนอขอรับรางวัล
1.  เจ้าของผลงานโครงการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ที่ประสงค์จะส่งผลงานฯ เพื่อขอรับรางวัล จะต้องมีสัญชาติไทย และเป็นนักศึกษาระดับอุดมศึกษาทุกระดับ (ปวส. ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก) หรือนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษามาแล้วไม่เกิน 2 ปี (สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2554 เป็นต้นไป) และต้องเสนอรายละเอียดผลงานฯ ตามแบบฟอร์มใบสมัครเข้าร่วมการประกวดโครงการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์เพื่ออนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมฯ ให้คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มจพ. พิจารณาภายในเวลาที่กำหนด
2.  ผลงานโครงการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ที่เสนอขอรับรางวัล จะต้องสอดคล้องกับกลุ่มเรื่องที่กำหนด คือ เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม
3.  เจ้าของผลงานโครงการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ที่เสนอขอรับรางวัล ยินดีจะนำผลงานนั้น ๆ ไปตั้งแสดงนิทรรศการและสาธิต ณ สถานที่ ตามที่ มจพ. กำหนด

วิธีดำเนินงาน
1. ประชาสัมพันธ์รับสมัครการประกวดโครงการวิจัยและผลงานสิ่งประดิษฐ์
2. ทำการคัดเลือกจากใบสมัครและประกาศผลการประกวดโครงการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ที่ผ่านเข้ารอบ
3. จัดการนำเสนอการประกวดโครงการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ โดยมีรูปแบบดังนี้
•  จัดนิทรรศการและการสาธิตโครงการวิจัยและผลงานสิ่งประดิษฐ์
•  มีการวิพากษ์ให้ความเห็นและให้ข้อเสนอแนะ เพื่อพัฒนาปรับปรุงโครงการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ โดยคณะกรรมการตัดสินการประกวดงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ที่ มจพ. แต่งตั้งขึ้น
•  ทำการตัดสินและประกาศผลรางวัลโครงการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์
 
สถานที่และระยะเวลาในการดำเนินงาน
กำหนดจัดการประกวดผลงานโครงการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ในวันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2556 ณ หอประชุมประดู่แดง ชั้น 2 อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ระหว่างเวลา 08.00 – 17.00 น.

การรับสมัครและการประกาศผล
•  รับสมัครตั้งแต่บัดนี้  จนถึงวันที่  18 ตุลาคม  2556
•  ประกาศผลการพิจารณารอบแรกผ่าน Website: http://www.sci.kmutnb.ac.th และ E-mail
โดยจะแจ้งผลให้ทราบภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2556
หมายเหตุ: วัน เวลา อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมและจะแจ้งให้ทราบผ่าน website ของคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1.  นิสิต/นักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ได้รับการพัฒนาทักษะ ความรู้ และเกิดแรงกระตุ้นในการคิดค้นงานวิจัย   และสิ่งประดิษฐ์ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมตามความจำเป็นและความต้องการที่แท้จริงของชุมชน
2.  นิสิต/นักศึกษาในระดับอุดมศึกษา ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานโครงการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ต่อเวทีสาธารณะ    เกิดการพัฒนาต่อยอดหรือเกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาประเทศ จนนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
3.  เกิดการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ของนิสิต/นักศึกษา/สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา

ติดต่อสอบถาม
•  sciforgreen@gmail.com
•  Facebook เยาวชนใช้วิทย์ฯ คิดเพื่อสิ่งแวดล้อม
•  คุณภควรรณ สีสวย, อรอุมา รัตนเทพี, ภาศกร พันธุ์รอด โทร 02-555-2000 ต่อ 4234

File attachments: 
หมดเขต: 
21 ส.ค. 2013 10:00 to 18 ต.ค. 2013 16:00

Members Online

There are currently 0 users online.