ประกวดผลงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านไทย ครั้งที่ 1
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด (ปณท) ร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม จัดการประกวดผลงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านไทย ครั้งที่ 1 (2555-2556) ขึ้นเพื่อเป็นการจุดประกายความตื่นตัว และความสนใจแก่สังคมไทย และส่งเสริมช่างศิลป์ไทยให้เกิดการพัฒนาฝีมือทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น ได้มีโอกาสในการนําเสนอผลงานในแนวสร้างสรรค์เพื่อค้นหาชิ้นงานที่โดดเด่นของช่างศิลป์พื้นบ้าน รวมทั้งเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้สู่งานแสดงตราไปรษณียากรโลก (THAILAND 2013) ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 2-14 ตุลาคม 2556 และสอดคล้องกับตราไปรษณียากรชุดแรกของงานแสดงตราไปรษณียากรโลกที่นำเสนองานศิลปหัตถกรรมไทยพื้นบ้านของแต่ละภาค กำหนดออกเผยแพร่ในเดือนตุลาคม 2555
ประเภทผลงาน
การประกวดครั้งนี้มุ่งเน้นผลงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านไทย 3 แขนงหลัก ที่ได้รับการสืบทอดพัฒนาอย่างแพร่หลายภายในวิถีชีวิตท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาค ประกอบด้วย งานจักสาน งานปั้นดินเผา และงานถักทอ ซึ่งแต่ละแขนงอาจจำแนกเป็นสองลักษณะ คือ แนวประเพณี ที่ยังยึดมั่นในรูปแบบและแนวทางการสร้างสรรค์ ตลอดจนการนำไปใช้สอยตามแบบดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา และแนวประยุกต์ ที่ริเริ่มสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ๆ อันต่างไปจากเดิม รวมทั้งการประยุกต์เทคนิควิธีการ ตลอดจนประโยชน์ใช้สอยที่เข้ากับวิถีชีวิตปัจจุบัน ดังนั้น จึงกำหนดประเภทผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 6 ประเภท ได้แก่
- งานจักสาน แนวประเพณี
- งานจักสาน แนวประยุกต์
- งานปั้นดินเผา แนวประเพณี
- งานปั้นดินเผา แนวประยุกต์
- งานถักทอ แนวประเพณี
- งานถักทอ แนวประยุกต์
เงื่อนไขการเข้าประกวด
- ขนาดของผลงาน ต้องไม่ตํ่ากว่า ขนาดกว้าง 30 ซม. ยาว 30 ซม. สูง 30 ซม. และไม่เกินกว่า ขนาดกว้าง 150 ซม. ยาว 150 ซม. สูง 150 ซม. ส่งได้คนละไม่เกิน 3 ชิ้น ต่อประเภท
- ต้องใช้วัสดุที่เหมาะสมและสามารถนำไปเป็นประโยชน์ใช้สอยได้จริง หรือประยุกต์ใช้ในลักษณะอื่น
- ผลงานต้องสร้างขึ้นด้วยฝีมือตนเอง หรือกลุ่มของตนเอง มีรูปแบบเฉพาะท้องถิ่นหรือแบบประยุกต์ตามความคิดสร้างสรรค์ของตนเองที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น และต้องใช้ชื่อ ที่อยู่ของเจ้าของผลงานพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้
- ผลงานต้องไม่เคยได้รับรางวัลจากการประกวดใดๆ มาก่อน
- ผลงานใดที่มีคุณสมบัติไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 1 – 4 ถือว่าหมดสิทธิ์โดยปริยายที่จะเข้ารับการพิจารณาจากคณะกรรมการตัดสิน โดยจะมีการแจ้งให้เจ้าของผลงานที่ส่งเข้าประกวดมารับคืนผลงานดังกล่าวต่อไป
- ผลการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด
- ทุกผลงานที่ได้รับรางวัลจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ และลิขสิทธิ์ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด (ปณท) โดยผู้ส่งเข้าประกวดจะต้องลงนามยินยอมในหนังสือสัญญามอบลิขสิทธิ์ผลงานชิ้นดังกล่าวให้ตกเป็นขอ ปณท แต่เพียงผู้เดียว ซึ่ง ปณท สามารถนำมาใช้ในกิจกรรม และธุรกิจใดๆ ของ ปณท ได้ทุกประการ
- ผู้เข้าประกวดสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2555 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 29 มีนาคม 2556 ณ ที่ทำการไปรษณีย์จังหวัดทั่วประเทศ (76 จังหวัด ยกเว้น กทม.) และอาคารสำนักงานใหญ่
บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210-0299 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทรศัพท์ 0 2831 3722, 0 2831 3876 โดยจะประกาศผลการตัดสินทางเว็บไซต์ไปรษณีย์ไทย www.thailandpost.co.th และ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทุกแห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไป - ผลงานที่ได้รับรางวัลจะนําไปจัดแสดงให้ประชาชนได้ชมตลอดการจัดงานแสดงตราไปรษณียากรโลก THAILAND 2013 ระหว่างวันที่ 2 – 14 สิงหาคม 2556 ณ ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ และจะนำไปเป็นต้นแบบในการจัดสร้างตราไปรษณียากรต่อไป
- ผลงานที่ไม่ได้รับรางวัลสามารถขอรับคืนได้ที่ส่วนพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร ฝ่ายตลาดตราไปรษณียากร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2556 เป็นต้นไป ภายใน 30 วัน หากพ้นกำหนดดังกล่าวถือว่าสละสิทธิ์ ผลงานนั้นๆ จะตกเป็นกรรมสิทธิ์และลิขสิทธิ์โดยสมบูรณ์ของ ปณท ต่อไป
- บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) สงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขกติกาได้ตามความเหมาะสม เมื่อผู้ส่งผลงานเข้าประกวดได้ลงนามในใบสมัครเเล้ว ถือว่ายอมรับเงื่อนไขที่ ปณท กำหนดขึ้นทุกประการ
รางวัลสำหรับผลงานที่ชนะการประกวด
รางวัลแต่ละประเภทประกอบด้วยเงินสด และโล่ประกาศเกียรติคุณ ดังนี้
- รางวัลที่ 1 เงินสด 50,000 บาทพร้อมโล่ (ประเภทละ 1 รางวัล)
- รางวัลที่ 2 เงินสด 30,000 บาทพร้อมโล่ (ประเภทละ 1 รางวัล)
- รางวัลที่ 3 เงินสด 20,000 บาทพร้อมโล่ (ประเภทละ 1 รางวัล)
รวมทั้งสิ้น 18 รางวัล เป็นเงินสด 600,000 บาท
คณะกรรมการตัดสิน
ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ศิลปหัตถกรรมแต่ละแขนง แขนงละ 5 ท่าน โดยจะมีหน้าที่พิจารณาตัดสินผลงานชนะเลิศในแขนงนั้น ๆ ทั้งประเภทแนวประเพณี และแนวประยุกต์
ศิลปหัตถกรรมจักสาน
- ศาสตราจารย์วิบูลย์ ลี้สุวรรณ ราชบัณฑิต ประเภทวิชาวิจิตรศิลป์ และผู้ชำนาญการด้านหัตถกรรมจักสาน
- นายวัฒนะ วัฒนาพันธุ์
ศิลปหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา
- ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เสริมศักดิ์ นาคบัว ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบผลิตภัณฑ์เซรามิก
- นายประดิษฐ์ ศรีวิชัยนันท์ ผู้เชี่ยวชาญการออกแบบผลิตภัณฑ์เซรามิก
- นายจำลอง สุวรรณชาติ นักวิชาการช่างศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร
- นายสมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินเซรามิก
- นายวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ศิลปินเซรามิก
ศิลปหัตถกรรมงานถักทอ
- นายเผ่าทอง ทองเจือ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ และผ้าไทย
- นางอรไท ผลดี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- นายวิถี พานิชพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการด้านศิลปะ วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น
- นายบุญชัย ทองเจริญบัวงาม ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย
- นายวีระธรรม ตระกูลเงินไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ส่วนพิพิธภัณฑ์ตราไปรษณียากร ฝ่ายตลาดตราไปรษณียากร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โทรศัพท์ 028313722 หรือ
ติดต่อผู้ประสานงาน นายสวาสดิ์ พูลสวัสดิ์ มือถือ 0816122110
อีเมล์: folkthaiart2012@gmail.com
เฟซบุ๊ก: http://www.facebook.com/stampinlove2011
เผยแพร่ : http://www.contestwar.com/
- เข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น