^ Back to Top

ประกวดดนตรีไทยระดับมัธยมศึกษา "ประลองเพลง ประเลงมโหรี"

ประกวดดนตรีไทยระดับมัธยมศึกษา "ประลองเพลง ประเลงมโหรี"

กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) และ ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ขอเชิญนักเรียนมัธยมศึกษา หรือเทียบเท่า เข้าร่วมการประกวดดนตรีไทยระดับมัธยมศึกษา "ประลองเพลง ประเลงมโหรี" ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล และเกียรติบัตร

หลักการและวัตถุประสงค์
สืบเนื่องจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชปรารภในปัจจุบันนี้ประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับดนตรีไทย ประเภทมโหรีค่อนข้างน้อยมาก เรื่องนี้จําเป็นที่จะต้องมีการส่งเสริมให้เยาวชนไทยรวมทั้งครูที่สอนดนตรีไทย ได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องมโหรี ที่ถูกต้อง ทั้งด้านมาตรฐานเสียง ประเภทของเพลงที่ใช้กับวงมโหรี ตลอดจน ระเบียบแบบแผนในการใช้มือปฏิบัติต่อเครื่องดนตรี เพื่อจะได้มีความรู้ และสามารถปฏิบัติอย่างถูกต้องได้ต่อไป ในอนาคต รวมทั้งสามารถถ่ายทอดความรู้ เรื่องมโหรีให้แก่ผู้อื่นสืบต่อไปอีกด้วย

เพื่อสนองพระราชปณิธานในเรื่องนี้ ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) และกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) จึงได้ดําเนินการให้มีการประกวดดนตรีไทยในระดับมัธยมศึกษา “ประลองเพลง ประเลงมโหรี” เป็นประจําทุกปี เริ่มมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๙ จนถึงทุกวันนี้ เป็นเวลา ๓๕ ปีแล้ว ผลปรากฏว่ามีเยาวชนได้ผ่านการประกวดดนตรีไทย ประเภทมโหรี่มาแล้วหลายรุ่น ได้เพิ่มพูนผู้มีความรู้ ความเข้าใจ ทั้งนักเรียนและครูผู้สอนเป็นจํานวนมาก นอกจากนี้ยังมีนักเรียนและครูอีกหลายคนที่ได้ศึกษาต่อในวิชาดนตรีไทยจนจบในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ได้เป็นครูผู้สอนดนตรีไทยที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นเป็นประโยชน์ทางด้านวิชาการ และการส่งเสริม ศิลปวัฒนธรรมไทยสืบมา

ประเภทของการประกวด

  • การบรรเลงรับร้อง (วงมโหรี) แบ่งเป็น ๒ ประเภท
    • ถ้วย ก หมายถึง การประกวดฯ สําหรับสถานศึกษาหรือวงดนตรีที่เข้าร่วมการประกวดฯ เคยได้รับรางวัล หรือวงดนตรีที่ชนะเลิศ ถ้วย ข
    • ถ้วย ข หมายถึง การประกวดฯ สําหรับสถานศึกษาหรือวงดนตรีที่ยังไม่เคยเข้าร่วม การประกวดฯ หรือเคยเข้าร่วมการประกวดแต่ไม่ได้รับรางวัล (หากประกวดประเภทนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ต้องไปประกวดถ้วย ก)
  • การบรรเลงเดี่ยวเครื่องดนตรีและขับร้อง

คุณสมบัติของผู้เข้าประกวด

  • ผู้เข้าประกวดการบรรเลงรับร้องวงมโหรี จะต้องมีผู้บรรเลงรวมวงไม่เกิน ๑๖ คน โดยรวมนักร้องและนักดนตรีสํารองอีก ๒ คนแล้ว ทั้งนี้ ให้ระบุชื่อ-นามสกุลผู้บรรเลงตามเครื่องดนตรีใบสมัครให้ครบทุกเครื่องมือ รวมทั้งนักดนตรีสํารองด้วย พร้อมติดภาพถ่ายในใบสมัคร (นักดนตรีสํารองไม่สามารถเพิ่มเติมภายหลังได้) และกรณีขอสับเปลี่ยนนักดนตรีอนุญาตให้สับเปลี่ยนได้เฉพาะหน้าที่การบรรเลงภายในวงที่ส่งประกวด ทั้งนี้ขอให้แจ้งธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ก่อนการประกวดฯ ๗ วันทําการ และการบรรเลงรวมวงไม่สามารถเปลี่ยนตัวผู้ประกวดได้
  • สถาบันการศึกษาสามารถส่งเข้าประกวดได้ประเภทละ ๑ วง
  • สถานศึกษาใดที่มีนักดนตรีไม่ครบตามข้อกําหนด สามารถเชิญนักดนตรีต่างสถานศึกษาเข้ามาร่วมบรรเลงได้
  • บ้านดนตรี/ชมรมดนตรี ชุมนุมดนตรี ส่งเข้าประกวดได้ประเภทละ ๑ วงต้องเป็นนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑ - ๖ หรือเทียบเท่า เป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อเข้าประกวดฯ ของต่างสถาบันการศึกษาในการประกวดจะต้องมีสัดส่วนของเครื่องดนตรีประเภทดําเนินทํานองที่เท่า ๆ กัน โดยให้สถาบันการศึกษาออกหนังสือรับรองสถานภาพของผู้เข้าประกวด
  • ผู้เข้าประกวดประเภทวง จะต้องเป็นนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑ - ๖ หรือเทียบเท่า โดยให้สถานศึกษาออกหนังสือรับรองสถานภาพของผู้เข้าประกวด และผู้เข้าประกวดประเภทการบรรเลงเดี่ยว อนุญาตให้ส่งในนามตนเองได้ แต่ต้องมีหนังสือรับรองจากสถาบันศึกษาว่ากําลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาจริง
    หมายเหตุ หากไม่เป็นตามคุณสมบัติข้างต้น กรรมการขอตัดสิทธิในการประกวด
    ผู้บรรเลงรวมวง ประกอบด้วย
    • ซอสามสาย (ไม่ต้องสีคลอร้อง)
    • ซอด้วง (ให้ใช้สายไหม หรือ เอ็น ห้ามใช้สายโลหะ)
    • ซออู้ (ให้ใช้สายไหม หรือ เอ็น ห้ามใช้สายโลหะ)
    • ขลุ่ยเพียงออ
    • จะเข้
    • ระนาดเอกมโหรี
    • ระนาดทุ้มมโหรี
    • ฆ้องวงมโหรี หรือฆ้องกลาง
    • โทน (กําหนดให้บรรเลงเครื่องดนตรีละ ๑ คน)
    • รํามะนา (กําหนดให้บรรเลงเครื่องดนตรีละ ๑ คน)
    • ฉิ่ง
    • กรับพวง
    • โหม่ง
    • นักร้อง
      หมายเหตุ การประกวดบรรเลงต่อหน้าคณะกรรมการ กําหนดให้ใช้เครื่องดนตรีที่กองประกวดจัดไว้ให้ ได้แก่ ระนาดเอกมโหรี ระนาดทุ้มมโหรี ฆ้องวงมโหรี หรือฆ้องกลาง ฉิ่ง กรับพวง และโหม่ง สําหรับเครื่องดนตรี ประเภทเครื่องสาย เครื่องเป่า และ โทน - รํามะนา ผู้ประกวดสามารถจัดเตรียมมาเองหรือใช้เครื่องดนตรีของกองประกวด
  • การบรรเลงต้องเป็นไปตามแบบฉบับการบรรเลงรับร้องของมโหรีอันพึงปฏิบัติ
  • ผู้สมัครที่ส่งชื่อเข้าประกวด ถ้าสังกัดวงใดแล้วต้องสังกัดวงนั้นเพียงวงเดียว
  • คณะกรรมการจะตรวจสอบชื่อนักดนตรีในถ้วย ข หากพบว่ามีผู้เคยได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทถ้วย ก ร่วมบรรเลงในวงที่ประกวด กรรมการจะตัดสิทธิ์ในการประกวดทันที
  • การประกวดประเภทเดี่ยวเครื่องดนตรีและขับร้อง อนุญาตให้ผู้ประกวดสามารถเลือกประเภทในการประกวดได้เพียงคนละ ๑ ประเภทเท่านั้น หากนักเรียนที่ได้รับรางวัลที่ ๑ แล้ว การประกวดเดี่ยว เครื่องดนตรีประเภทขลุ่ยเพียงออ และขับร้อง ขอให้สงวนสิทธิ์ในการประกวดเครื่องนั้น ๆ
  • นักเรียนที่เข้าประกวดทุกประเภทต้องนําบัตรประชาชนหรือบัตรนักเรียน มาให้ฝ่ายลงทะเบียนตรวจสอบทุกครั้งที่มีการประกวดต่อหน้าคณะกรรมการ หากไม่มีอาจจะพิจารณาตัดสิทธิ์ในการประกวดทุกประเภท
  • การประกวดทุกประเภท ผู้ที่ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ และรอบชิงชนะเลิศ รวมถึงครูผู้ฝึกซ้อมจะได้รับเกียรติบัตร จากกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.)

กำหนดระยะเวลาและการสมัคร

  • การประกวดบรรเลงรับร้อง (วงมโหรี) ถ้วย ก และ ถ้วย ข
    ปิดรับสมัคร วันอาทิตย์ที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๗
  • การประกวดบรรเลงเดี่ยวเครื่องดนตรีและขับร้อง จะเข้ ซออู้ ขลุ่ย ระนาดทุ้ม และรับร้อง
    ปิดรับสมัคร วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๗
  • ส่งใบสมัครได้ด้วยตนเองหรือสมัคร ทางไปรษณีย์ได้ที่
    ฝ่ายการประชาสัมพันธ์ ชั้น ๔
    ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) สํานักงานใหญ่
    ถนนสีลม แขวงสีลม กรุงเทพฯ ๑๐๕๐๐

รางวัลการประกวด

  • ประเภทการบรรเลงรับร้อง (วงมโหรี)
    • ถ้วย ก
      • รางวัลที่ ๑ ถ้วยมโหรี เกียรติบัตรพระราชทาน เข็มมโหรี รางวัลผู้ปรับวง เกียรติบัตรพระราชทาน และเข็มมโหรี ๑ รางวัล เงินรางวัล ๕๕,๐๐๐ บาท
      • รางวัลที่ ๒ ถ้วยรางวัลของ ดย. เกียรติบัตรพระราชทาน เงินรางวัล ๓๐,๐๐๐ บาท
      • รางวัลที่ ๓ ถ้วยรางวัลของ ธนาคารกรุงเทพ เกียรติบัตรพระราชทาน เงินรางวัล ๒๐,๐๐๐ บาท
      • รางวัลชมเชย จํานวน ๒ รางวัล ๆ ละ ๑๐,๐๐๐ บาท เกียรติบัตรพระราชทาน
    • ถ้วย ข
      • รางวัลที่ ๑ ถ้วยมโหรี เกียรติบัตรพระราชทาน เข็มมโหรี รางวัลผู้ปรับวง เกียรติบัตรพระราชทาน และเข็มมโหรี เงินรางวัล ๕๐,๐๐๐ บาท ๑ รางวัล
      • รางวัลที่ ๒ ถ้วยรางวัลของ ดย. เกียรติบัตรพระราชทาน เงินรางวัล ๓๐,๐๐๐ บาท
      • รางวัลที่ ๓ ถ้วยรางวัลของ ธนาคารกรุงเทพ เกียรติบัตรพระราชทาน เงินรางวัล ๒๐,๐๐๐ บาท
      • รางวัลชมเชย จํานวน ๒ รางวัล ๆ ละ ๑๐,๐๐๐ บาท เกียรติบัตรพระราชทาน
  • ประเภทการบรรเลงเดี่ยวเครื่องดนตรีและขับร้อง
    • รางวัลที่ ๑ เกียรติบัตรพระราชทาน โล่เกียรติยศจาก ดย. เข็มมโหรี เงินรางวัล ๑๐,๐๐๐ บาท
    • รางวัลที่ ๒ เกียรติบัตรพระราชทาน เงินรางวัล ๖,๐๐๐ บาท
    • รางวัลที่ ๓ เกียรติบัตรพระราชทาน เงินรางวัล ๔,๐๐๐ บาท
    • รางวัลชมเชย จํานวน ๕ รางวัล ๆ ละ ๓,๐๐๐ บาท เกียรติบัตรพระราชทาน

ติดต่อสอบถาม

  • กองส่งเสริมการพัฒนาและสวัสดิการเด็ก เยาวชน และครอบครัว (กสส.)
    • โทรศัพท์ ๐ ๒๖๕๑ ๒๕๔๑ ในเวลาราชการ ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น.
  • ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน)
    • โทรศัพท์ ๐ ๒๒๓๐ ๒๗๑๑ และ ๑๒ ๒๓๐ ๒๗๑๕
    • โทรสาร ๐ ๒๖๒๖ ๓๓๕๗ ในวันและเวลาทําการ ๐๘.๓๐ - ๑๖.๓๐ น.
File attachments: 
Deadline: 
12 Jun 2024 08:30 to 15 Sep 2024 16:30

Members Online

There are currently 0 users online.