^ Back to Top

เสวนา Art Talk หัวข้อ "ศิลปะออนไลน์ทำลาย หรือพัฒนา"- นิทรรศการแสดงศิลป์สัญจร ครั้งที่ 1 “จะอั้น จะอี้ จะอาร์ต” รางวัลยุวศิลปินไทย 2560 (Young Thai Artist Award 2017)

การเสวนา Art Talk ครั้งนี้ เป็นการพูดคุยกันในบรรยากาศอบอุ่น สบายๆ ในหัวข้อ "ศิลปะออนไลน์ทำลายหรือพัฒนา" โดยมีอาจารย์ถวัลย์ วงษ์สวรรค์ หรืออาจารย์กอล์ฟ อาจารย์ประจำภาควิชาออกแบบภายใน คณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต และยังเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินรายการบ้านและสวน The renovation ทางอัมรินทร์ทีวี เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

อาจารย์ถวัลย์ วงษ์สวรรค์ : ประเด็นที่จะมาพูดคุยในวันนี้ เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก "ศิลปะออนไลน์ทำลายหรือพัฒนา" วันนี้กระแสออนไลน์ต่างๆเข้ามามีบทบาทมากในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็น เราได้เห็นกระแสทีวีดิจิตอล คอนเท้นต์ต่างๆ เมื่อเกิดเข้ามาในแวดวงศิลปะจะเป็นอย่างไร ศิลปิน 6 ท่าน ซึ่งเป็นกูรูในแต่ละด้าน จะมาแลกเปลี่ยนและพูดคุยกัน ซึ่งได้แก่ 

  1. อาจารย์ประยอม ยอดดี ศิลปินด้านจิตรกรรมล้านนาสร้างสรรค์ผลงานกว่า 20 ปี
  2. รองศาสตราจารย์ ทินกร กาษรสุวรรณ (รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)
  3. คุณดาว วาสิกสิริ (นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์)
  4. คุณกนกวลี พจนปกรณ์ (นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย)
  5. คุณนนทรีย์ นิมิบุตร (ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง)
  6. อาจารย์วิทยา พลวิฑูรย์ (ศิลปินล้านนารุ่นใหม่, อาจารย์ประจำสาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปะกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา)

อาจารย์ประยอม ยอดดี : โดยทั่วไปแล้วส่วนใหญ่ศิลปินที่ทำงานเขียนภาพ ระบบออนไลน์สมัยก่อนเมื่อเทียบกับสมัยปัจจุบัน การค้นหาข้อมูลในการทำงานแต่ละอย่าง เราจะต้องไปด้วยตัวของเราเอง เช่น อยากจะไปดู กาดกองต้า(ถนนคนเดิน จังหวัดลำปาง) เราจะต้องไปเอง แต่เดี๋ยวนี้เราสามารถดูผ่านทางออนไลน์ได้เลยว่ามีอะไรบ้าง โดยเฉพาะวงการศิลปะก็จะกว้างขึ้น เยาวชนรุ่นใหม่สามารถเข้าไปดูงานศิลปะได้ทุกสาขาจากศิลปินทั่วโลก

เมื่อโลกของเราเข้าสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น ก็ทำให้ศิลปินหลายๆท่านมีโอกาสที่จะนำเสนอผลงานกันในโลกโซเชียลได้ง่ายขึ้น และมีประโยชน์มากขึ้น

งานลายเส้นขาวดำที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา, วัฒนธรรมในโลกออนไลน์ Art Talk หัวข้อ "ศิลปะออนไลน์ทำลาย หรือพัฒนา"- นิทรรศการแสดงศิลป์สัญจร ครั้งที่ 1 รางวัลยุวศิลปินไทย 2560 Young Thai Artist Award 2017
ตัวอย่าง งานลายเส้นขาวดำที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา, วัฒนธรรม ที่ถูกเผยแพร่ในโลกออนไลน์

โดยรวมแล้วศิลปะในโลกออนไลน์ทำลายหรือสร้างสรรค์ มันน่าจะเป็นเรื่องของการสร้างสรรค์ เพราะในวงการศิลปะส่วนใหญ่แล้ว เราจะมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สังคมเป็นโดยปกติอยู่แล้ว เมื่อผลงานแต่ละชิ้นออกไปในโลกโซเชียลปัจจุบัน ทำให้ง่ายขึ้นต่อการสัมผัสศิลปิน และก็เยาวชนรุ่นใหม่สามารถศึกษาแนวทางของศิลปินในแต่ละท่านได้รวดเร็วและสะดวกขึ้น ซึ่งเป็นผลดีเป็นอย่างยิ่ง

แต่ว่าอย่าลืมว่างานบางชิ้น ต้องอาศัยการสร้างสรรค์ซึ่งมาจากจิตวิญญาณของศิลปิน มันง่ายเกินไปสำหรับการที่จะเข้าไปศึกษาในโลกออนไลน์ มองเห็นตัวอย่างมากไปทำให้เค้าไม่รู้จักวิถีแห่งการสร้างสรรค์ของศิลปินในแต่ละท่านว่าเป็นอย่างไร จึงทำให้มีผลเสียตรงจุดนี้นิดเดียว ตรงจิตวิญญาณของการทำงานมันจะหายไป แต่โดยรวมแล้วโลกออนไลน์ดีและสร้างสรรค์ดีมากสำหรับในวงการศิลปะ

 

คุณกนกวลี พจนปกรณ์ : ถ้าถามว่าวรรณกรรมเป็นศิลปะไหม? เป็น เพราะว่าการเขียนวรรณกรรมมันเป็นเรื่องของการนำเอาความรู้สึกนึกคิด และความงดงามทั้งหลายภาษาของสิ่งที่ผู้เขียนเห็นใส่ลงไปในเนื้องานด้วย จึงเป็นศิลปะอีกสาขาหนึ่ง ศิลปะพอมันมีออนไลน์เข้ามา มันมีผลดีหรือผลเสียยังไง

คุณกนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย - Art Talk หัวข้อ "ศิลปะออนไลน์ทำลาย หรือพัฒนา"- นิทรรศการแสดงศิลป์สัญจร ครั้งที่ 1 รางวัลยุวศิลปินไทย 2560 Young Thai Artist Award 2017
คุณกนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

ทุกอย่างในโลกนี้มันมีสองด้าน ไม่ว่าจะมองมุมไหนมันอาจจะมีดี มีเสีย มีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ แต่เค้าบอกว่าในโลกดิจิตอลปัจจุบันนี้มันมากกว่า 2 ด้านอีก มันมีมุมบน มุมล่าง มุมซ้าย มุมขวา มุมหน้า มุมหลัง เยอะแยะไปหมด แล้วยิ่งถ้าสมมุติเอาองศามาจับ มัน 360 องศาด้วย เพราะฉะนั้นในมุมของวรรณกรรมมันอาจจะเป็นในลักษณะนั้น

  • เป็นยุคที่เปรียบเสมือนหนังสือจำนวนมากลอยอยู่ในอากาศ คุณสามารถออนไลน์ดึงมาใช้ได้เลย
  • เด็กรุ่นใหม่ใช้สื่อดิจิตอลตั้งแต่เด็กๆ แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่สมัยก่อนอาจจะชอบหนังสือมากกว่าเพราะว่ามีกลิ่นหอมจับต้องได้
  • ใช้หุ่นยนต์เขียนหนังสือ หุ่นยนต์ที่ญี่ปุ่นเขียนนิยายส่งประกวดจนเข้ารอบ
  • นักเขียนเดี๋ยวนี้สามารถค้นหาทุกสิ่งทุกอย่างได้จากใน Google หมดเลย แม้กระทั่งสถานที่ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราต้องไปค้นหาจากสถานที่จริง ณ จุดนี้ก็เป็นการช่วยนักเขียนได้
  • วรรณกรรมทุกอย่างมีอยู่ในออนไลน์ทั้งหมด แล้วแต่ใครจะเลือกใช้ และจะเลือกใช้อย่างไร
  • งานเขียนของคนรุ่นใหม่ที่นิยมอ่านกัน มักจะเป็นภาพลักษณะการ์ตูน ซึ่งขายดีมาก ตัวหนังสือกลายเป็นสิ่งที่เด็กๆรุ่นไหม่ไม่ค่อยอ่าน ชอบดูภาพการ์ตูนในลักษณะนี้กัน
  • แนว Y (วาย) ที่เด็กรุ่นใหม่ วัยรุ่นในปัจจุบันนิยมอ่าน และขายดีมากในอินเตอร์เน็ต บางคนมีบ้าน มีรถได้เลย
  • หนังสือผี กับหนังสือพระที่ยังอยู่ได้ ในขณะที่หนังสืออื่นๆโดยเฉพาะวรรณกรรมเพียวๆต้องปิดตัวไปเลย
  • เด็กรุ่นใหม่ที่อ่านหนังสือแล้วอินกัน จะมีการแต่งตัวกันไปงานสัปดาห์หนังสือ งานมหกรรมหนังสือ แล้วกลุ่มหนังสือที่ขายได้ก็จะเป็นกลุ่มที่สนองความต้องการของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ซึ่งเค้าจะแต่งตัวเป็นคอสเพลย์ หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่คุ้นชินกับสิ่งนี้มาตั้งแต่เกิด
  • สมัยนี้คนนิยมซื้อหนังสือผ่านทางออนไลน์กัน ใครอยากซื้อก็กดเข้าไปซื้อ เพราะฉะนั้นทำให้ร้านหนังสือทั้งหลายปิดกันเป็นแถวๆ


เด็กๆรุ่นใหม่ชอบดูภาพการ์ตูนมากกว่าอ่าน (ซ้าย)
นิยายแนว Y ที่วัยรุ่นในปัจจุบันนิยมอ่าน (ขวา)

คุณกนกวลี พจนปกรณ์ ไม่ได้ให้คำตอบว่า ดีไม่ดียังไง แต่เมื่ออ่านจบ ทุกท่านก็จะได้คำตอบเอง

 

 

คุณดาว วาสิกสิริ : ในอินเตอร์เน็ตข้อดีก็คือ ศิลปินจะได้เรียนรู้หรือเข้าไปสืบค้นข้อมูลได้ แต่โดยส่วนตัวจะชอบวิธีการซื้อหนังสือมาอ่านเองที่บ้าน มีความรู้สึกว่าจะพิมพ์หนังสือได้ในแต่ละเล่มจะต้องมีข้อมูลที่แน่น

  • อินเตอร์เน็ตจะทำให้ขนาดของงานศิลปะจาก original มันจะผิดเพี้ยนไป ขนาดภาพที่ไปอยู่บนอุปกรณ์ต่างๆจะมีขนาดตามแต่ละอุปกรณ์ แต่ในแกลเลอลี่เราจะสัมผัสไซต์จริง ทำให้การอ่านลึกเข้าไปในตัวงานก็จะต่างกัน
  • เรื่องของกรอบรูปที่หายไป เพราะกรอบรูปเป็นส่วนนึงของงานศิลปะ โดยศิลปินจะใช้กรอบให้เหมาะกับงานตัวเอง
  •  เช่น การ crop ภาพถ่ายจากพิพิธภัณฑ์ ส่งกันในโลกออนไลน์ ความหมายของภาพก็อาจผิดเพี้ยนไป
  • มิติของ Texture มันจะหายไป จากงานศิลปะ
  • ความแตกต่างจะเกิดจากประสบการณ์ชีวิต และบรรยากาศที่แตกต่างกัน เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่เข้าไปดูงานในพิพิธภัณฑ์
  • งานศิลปะนั้น รวมถึงภาพผ่านงานศิลปะที่อยู่ออนไลน์มันจะไปรวมกันทั้งหมดเลย คืองานที่ขายแพงมันก็จะไปอยู่รวมกับงานอื่นที่เรียกว่าเป็นขยะก็ได้ เช่น คนที่ถ่ายรูปไม่เป็นแต่เอางานโยนไปบนอินเตอร์เน็ต ก็จะไปปะปนกับงานแพงๆ เป็นต้น
  • มอนิเตอร์เป็นเหมือนกำแพงระหว่าง original กับตัวคนที่เข้าไปดู คือคุณไม่สามารถที่จะสัมผัสตัว original ได้ ทำให้ความหมายมันอาจจะผิดเพี้ยนไป
  • มันไม่ใช่เรื่องของอินเตอร์เนทอย่างเดียว ในแง่ของภาพถ่ายมันทำให้คุณค่าของภาพลดลงไป แต่อันนี้ก็โทษใครไม่ได้เพราะว่า เป็นเรื่องของกล้อง ซึ่งโฆษณาว่าการถ่ายภาพผ่านกล้องพวกนี้เป็นเรื่องง่าย ซึ่งทำให้คนที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องศิลปะการถ่ายภาพคิดว่ามันง่าย เห็นตัวเนื้องานที่ถ่ายออกมาสำคัญกว่าความรู้สึก
  • มิติของความลึก เพราะเวลาถ่ายภาพเรามองทุกอย่างเป็น 3มิติ แต่เวลาภาพออกมามันจะเป็น 2 มิติ เพราะฉะนั้นภาพส่วนของความลึกมันจะหายไป ดังนั้นภาพจริงมันจะปรากฎความจริง ไม่มากก็น้อย และแบคกราวน์จะมีบทบาทสำคัญมาก


กรอบรูปเป็นส่วนนึงของงานศิลปะ (ซ้ายบน)
​มิติของ Texture หายไป (ซ้ายล่าง)
การ crop ความหมายของภาพก็อาจผิดเพี้ยนไป (ขวา)

ดาว วาสิกสิริ นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ดาว วาสิกสิริ (นายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์)
ขนาดภาพที่ต่างกัน ทำให้การอ่านลึกเข้าไปในตัวงานก็จะต่างกัน (ซ้าย)
​มี Dialogue ระหว่างผู้ชมกับงานศิลปะ (ขวาบน)
อันนี้ขำๆ คนถ่ายรูปก็ถ่ายไป คนดูก็จินตนาการไปอีกแบบ (ขวาล่าง)

 

 

รองศาสตราจารย์ ทินกร กาษรสุวรรณ : จริงๆแล้วศิลปะออนไลน์ บนเวทีออนไลน์มันมี ทั้งดี ทั้งไม่ดี ในส่วนดี คือ แน่นอนทั้งนักศึกษา ทั้งเด็กวัยรุ่น ทั้งคนทำงานศิลปะ มีพื้นที่ในการเผยแพร่ผลงานศิลปะของเค้าเอง ไม่ว่า 2มิติ หรือ 3มิติ ไม่ว่าหนัง หรือหลายๆอย่าง แต่หนังอาจต้องเป็นความลับหน่อย แต่ในแง่ของงาน 2 มิติ งานประติมากรรม งานกินพื้นที่ในอากาศ คือ เราสามารถที่จะถ่ายทอดกระบวนการขั้นตอน หรือว่ากระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบ สื่อให้คนทั่วโลกเห็นว่าคุณค่าของมันก็อยู่ในตัวของมันเอง บางคนทำงานเสร็จ บางทียังไม่เสร็จเค้าเห็นกระบวนการขั้นตอน คนที่สนใจงานศิลปะก็จะอาจติดต่อโดยตรงกับศิลปิน และซื้อขายกันเลย 


รองศาสตราจารย์ ทินกร กาษรสุวรรณ
(รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร)

สมัยก่อนศิลปินอิสระก็ต้องไปแสดงงานตามนิทรรศการ ตามแกลเลอรี่ แล้วก็ค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร แต่ ณ ปัจจุบันก็ยังมีการโชว์งานแบบนี้อยู่ ทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่ว่าบนพื้นที่ทางออนไลน์ทำให้เราเห็นความเปิดกว้างสำหรับคนทำงานศิลปะได้เผยแพร่ สมมุติเราเขียน เราโพสลงวันนี้ คนที่อยู่ในยุโรป หรือโซนต่างประเทศ เล่นเฟสเล่นไทม์ไลน์ เค้าเห็น ใครสนใจก็ซื้อขายกัน เหมือนงาน OTOP หรืองานแต่ละจังหวัด อย่างกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มพ่อบ้าน หรือกลุ่มอะไรอย่างนี้ จริงๆตรงนี้เราสามาถที่จะเซ็ทขึ้นมาได้ อันนี้เป็นศิลปะพื้นบ้าน เป็นศิลปะของแต่ละจังหวัดเหมือนกัน

แต่ทีนี้ศิลปะบนออนไลน์ คืองานไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย หรือว่างานศิลปะอย่างอื่น อย่างนักศึกษาตอนส่งสเก็ตงานอาจารย์ หรือว่าการที่จะทำงานศิลปะ บางทีด้วยความมักง่ายเค้าก็จะไปหยิบจากในโลกออนไลน์ รูปดอกไม้ รูปสัตว์ รูปวิวอะไรสวยๆ เอามาแปะเอามาปะ ซึ่งอาจารย์ก็จะถามเอามาจากไหน - อ๋อ เอามาจากคอม ซึ่งเค้ามีลิขสิทธิ์ ซึ่งถ้าเอามาชัดๆ เอามาส่งประกวดมันมีการฟ้องร้องกันได้ แล้วมันทำให้เด็กคนนั้นไม่มีจินตนาการ ไม่เปิดโลก อาจารย์ก็พยายามจะย้ำว่าต้องไปถ่ายรูปเอง ต้องไปค้นคว้าเอง ต้องเดินหาให้เจอ ดูกายภาพ ดูสิ่งแวดล้อม แล้วเอามาทำงานของตัวเอง สิ่งนี้เป็นมันสำคัญมาก

บางทีเราดูในโลกออนไลน์มากๆ เราสามารถที่จะสังเกตวิธีการ กระบวนการ ขั้นตอน มุมมองได้ แต่ว่า กระบวนการทำงานมันต้องเป็นของเรา ซึ่งในมหาวิทยาลัยหลายๆที่เค้าก็จะพยายามเน้นย้ำว่า ต้องคิดเอง ต้องค้นคว้าเอง สื่อออนไลน์เป็นแค่ส่วนส่งเสริมให้เรารู้ทันว่าอีกซีกโลกนึงเค้าทำอะไรอยู่

อธิบายถึงภาพของน้องๆยุวศิลปินไทย มีเอกษณ์เรื่องราวต่างกันออกไป มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจริงๆ และมีทักษะฝีมือขั้นสูง

งานเด็กช่วงหลังจะมีลักษณะที่แตกต่างจาก 10 ปีที่แล้ว คืองานเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว งานจะค่อนข้างเป็นพวกแบบนามธรรม งานช่วงหลังๆจะเป็นพวกแบบเล่าเรื่องราวมากยิ่งขึ้น แสดงเนื้อหาแล้วก็ มีรายละเอียดที่มันร่วมสมัยมากยิ่งขึ้นกับโลกที่มันเปลี่ยนไป อันนี้ก็ค่อนข้างจะสำคัญ

พิธีกร : กระแสออนไลน์ต่างๆ มันเข้ามาในแวดวงการศึกษาศิลปะเรา แล้วมันเป็นอย่างไรบ้าง?

รองศาสตราจารย์ ทินกร กาษรสุวรรณ : ส่วนใหญ่จะเห็นในแง่ของข้อดีมากกว่า เพราะว่าดีสำหรับนักศึกษา และบุคคลทั่วไป แต่ว่าเราต้องใช้ให้เป็น ใช้ให้ถูก ใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะงานของเรา กลุ่มงานหรือลักษณะของอาชีพ อย่างนักศึกษาเค้าก็จะต้องค้นคว้า แต่การเอามาไปลอกไปหยิบของเค้ามาเลยไม่ได้ การที่เอามาแล้วมาเป็นข้อมูลดิบบวกกับข้อมูลที่เราไปค้นคว้าอันนี้เป็นสิ่งที่ดีในแง่ของการศึกษา

อีกอันคือถ้าเกิดว่าในแง่ของการขายผลงานของเราเอง ในการประชาสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะต้องอาศัยหนังสือพิมพ์ หนังสือรายสัปดาห์ ซึ่งจะต้องวางแผนล่วงหน้า แต่อันนี้เราทำเสร็จก็สามารถโชว์ทันที บางทีมีการแชร์ไปแชร์มา ซึ่งสิ่งนี้เป็นแง่ดีกับศิลปะกับวงการ แต่ในแง่ของวรรณกรรมบางทีมันก็อบปี้กันอ่าน คนเขียน หรือสำนักพิมพ์อาจจะไม่ได้อะไรเท่าไหร่ แต่ว่างานศิลปะมันมีชิ้นเดียวเป็น original ส่วนงาน Print มันจะต้องมีลายเซ็นต์ศิลปิน ซึ่งแต่ละสาขามันมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน

 

 

 


อาจารย์วิทยา พลวิฑูรย์ : ศิลปินล้านนารุ่นใหม่
อาจารย์ประจำสาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปะกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ 
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

อาจารย์ วิทยา พลวิฑูรย์ : มี 3 ส่วนใหญ่ที่จะกล่าว คือ

  1. ศิลปะที่เป็นงาน appropriate การนำงานศิลปะที่มีการหยิบยืมรูปแบบ original มาทำบนโลกออนไลน์แล้วก็แชร์กันบนอินเตอร์เน็ต 
  2. ส่วนต่อมาก็จะเป็นศิลปะที่เป็นตะวันตกกับตะวันออกที่ดูแล้วอาจจะดูคล้ายหรือดูต่างกัน 
  3. อันสุดท้ายจะพูดถึงเกี่ยวกับศิลปินไทยที่นำความเป็นไทยไปนำเสนอสังคมโลก ก็จะมีตัวอย่างศิลปินให้ดู

การนำงาน original มาทำบนโลกออนไลน์แล้วก็แชร์กันบนอินเตอร์เน็ต : ในมุมมองผมมองว่าจะพัฒนาหรือทำลายมันคาบเกี่ยวกัน ในมุมมองของศิลปินก็จะคิดว่าเป็นการพัฒนาหรือการนำเสนอใหม่ แต่ในมุมมองถ้าตัวเจ้าของเค้ายังอยู่ก็อาจจะโดนลิขสิทธิ์ได้


ภาพศิลปะที่เป็นงาน appropriate

ศิลปะที่เป็นตะวันตกกับตะวันออก : บางสิ่งบางอย่างเทพเจ้าหรือเทวดา ซึ่งอาจจะมีความคล้ายคลึงกันของรูปแบบแต่ชุดความคิดอาจจะแตกต่างกัน
ศิลปินไทยที่นำความเป็นไทยไปนำเสนอสังคมโลก : 


ภาrชุดความคิดแบบตะวันตกกับตะวันออก
คิวปิดต้องมีปีก แต่ของไทยไม่ต้องของเราคิดแบบอุดุมคติมากๆ

 


ผลงานของ อาจารย์ กมล ทัศนาญชลี
ดูเผินๆเป็นงาน abstract การนำรอยพระพุทธบาทมาสร้างารรค์ 
ศิลปิน 2 ซีกโลก ซึ่งนำความเป็นไทยไปประกาศในโลกตะวันตก

 


อาจารย์ ถวัลย์ ดัชนี นำเอเชียสู่ตะวันตก
ท่านไม่ได้ search อินเตอร์เนทอย่างเรา ท่านต้องไปศึกษาจากของจริง
ต้องไปดูจาก วัดใหญ่สุวรรณาราม ดู ซึมซับกลิ่นอายเอาประสบการ์ณทั้งหลาย

 

ถ้าเรามองในแง่บวกงานออนไลน์กับศิลปะ ก็จะสามารถที่จะพัฒนาได้ แต่ถ้าเรามองในแง่ลบก็จะมองว่ามันผิดมันเสีย

 

 


คุณนนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับภาพยนตร์

คุณนนทรีย์ นิมิบุตร : การที่ได้พูดคนสุดท้าย ทุกอย่างได้พูดไปหมดแล้ว เป็นไปดังคาด ฮาาาาา การตอบจะเป็นลักษณะการตั้งคำถาม 

พิธีกร : มุมมองกับภาพยนตร์ เรากับโลกออนไลน์ คำถามแรก ภาพยนตร์กับปรากฏการณ์ออนไลน์มันเปลี่ยนแปลงโลกภาพยนตร์ไปมากน้อยแค่ไหน

คุณนนทรีย์ นิมิบุตร : ถ้าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา มันเปลี่ยนไปคนละด้าน ในปัจจุบันนี้ ถ้าพูดถึงเด็กนักศึกษาที่เรียนภาพยนตร์อยู่ เราจะเห็นว่านักศึกษาส่วนใหญ่ใช้ออนไลน์ในการเรียนเยอะ ที่ใช้คำว่า reference คือการไปดูตัวอย่างภาพยนตร์ การไปหาข้อมูลด้านภาพยนตร์ต่างๆ เพื่อจะมาทำงานส่งครู 

ประเด็นมันคือว่าข้อดีก็คือเค้าจะสามารถหาภาพยนตร์ได้อย่างกว้างขวางขึ้น หาภาพยนตร์ได้ถึงทั่วโลก เค้าจะไปหาภาพยนตร์ของที่ไหนก็ได้ สามารถหาดูได้ในโลกออนไลน์ 

แต่ปัญหามันคือว่าเค้าจะนำออกมาใช้ เค้ามักจะไปหยิบเอาหนังแต่ละเรื่องๆ เค้าจะเทปเก็บไว้แล้วก็จะตัดต่อเอาแต่ละมุมๆ มาปนกันเป็นหนัง  มันจะทำให้การพัฒนาทางด้านภาพยนตร์ไม่ก้าวหน้า ผมมักจะบอกนักศึกษาว่ากรุณาใช้อย่างถูกต้อง เวลาที่จะต้องเริ่มทำหนัง

ผมพยายามบอกนักศึกษาว่าพยายามเลิกดู เพราะว่าคุณควรจะอ่านหนังสือ เวลาอ่านหนังสือมันจะทำให้เกิดจินตนาการอยู่บนหัวของตัวเอง เท่ากับคุณจะมีภาพส่วนตัว ที่ไม่ใช่ภาพจากอินเตอร์เนท ฃึ่งอันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยากจะบอกคนทำหนังอยู่ตลอดเวลาว่า กรุณาอ่านหนังสือเยอะๆ แล้วคุณก็จะมีภาพที่เป็นภาพ original ของคุณเอง ไม่ว่าจะไปฉายที่ไหนก็ตามมันจะจะบอกได้ว่าเป็นหนังของคุณเองในการออกแบบฉากต่างๆ หนังของเราจะมีลายเซนต์ หนังของเราหน้าตาแบบนี้ อย่างนางนาคห้อยหัวก็ไม่เคยมีใครทำ เราไปอ่านของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  เขียนไว้ 1 ประโยคเท่านั้นเอง แม่พาไปที่วัด เห็นรอยเท้าแม่นาคอยู่บนเพดานศาลา ซึ่งเกิดจากจินตนาการของผมเอง แสดงว่านางนาคต้องห้อยหัวสิ

พิธีกร : ถ้าโลกมันเชื่อมต่อกัน ภาพยนตร์มีมีหน้าตาเหมือนกันทั้งโลก จะมีความแตกต่างในด้านใด

คุณนนทรีย์ นิมิบุตร : ความจริงแล้วมันมีความแตกต่างเยอะมาก คือเราจะเห็นได้ชัดมากในโลกออนไลน์ที่เราเข้าไปดูหนังทุกวันๆ เราสามารถดูหนังที่ฉายในจีนได้ เราสามารถดูหนังที่ฉายในอเมริกาก็ได้ เราสามารถดูหนังจากที่ไหนก็ได้ทั่วโลก แต่ว่าขอให้ใช้วิธีการที่มันถูกต้อง และก็จ่ายเงินไปอย่างถูกต้องเราก็สามารถดูหนังจากที่ไหนก็ได้ 

ถามว่าโลกมันเปลี่ยนไปในกรณีที่ว่าทุกอย่างเร็วขึ้นมาก พอมันเร็วขึ้นมากจะทำให้กระบวนการผลิตภาพยนตร์มันดูราวกับว่ามันต้องมีกระบวนการนี้มากขึ้น หมายถึงว่าใน 1ปี ประเทศไทยมีหนังเกือบ 60เรื่อง เราควรจะมีหนังเยอะกว่านี้รึปล่าว เราควรจะมีหลายเรื่องกว่านี้รึเปล่า เพราะว่าในโลกออนไลน์ดูกันเร็วมากเลย สามารถดูกันได้ทุกวัน แต่จริงๆแล้วในความเป็นจริงมันตรงกันข้าม คือเรามีหนังน้อยลงไปทุกที เพราะว่าการมีออนไลน์มันทำให้เกิดการ piracy คือการดูหนังที่ไม่ถูกกฏหมาย คือ การทำหนังทุกวันนี้ มีเวลา 4วันเท่านั้นในการฉายหนัง 1 เรื่อง แต่ทำหนังบางเรื่องใช้เวลา 4 ปีในการทำ พอออกฉายมีเวลา 4 วันที่จะพิสูจน์ว่าหนังจะอยู่ได้หรือไม่ได้ ฉายวันที่ 1 วันพฤหัสต้องได้ 8 ล้านบาท วันศุกร์เราถึงจะได้ฉาย 4 วันนี้ ต้องได้ 12 ล้านขึ้นไป อาทิตย์หน้าถึงจะมีฉาย ออนไลน์ก็ทำให้กฎเกณฑ์นี้หนักขึ้นไปอีกโดยการที่อาทิตย์แรกเข้าไปในโรงหนัง อาทิตย์ที่2 ทุกคนก็ได้ดูในออนไลน์หมดแล้ว 

ซึ่งทำให้โลกของภาพยนตร์มันเปลี่ยนไปไกลมาก ในขณะในประเทศไทยเราไม่สามารถจะทำระบบออนไลน์ได้เอง ก็เพราะว่าเรายังมีโรงหนังเจ้าใหญ่ๆ ที่ยังเป็นโรงหนังหลายๆโรงในมัลติเพล็กซ์เดียวกันอยู่เยอะ แล้วเค้าก็ยังอยากให้คนไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ เพราะฉะนั้นการที่จะทำฮับออนไลน์ Netflixเหมือนที่ในต่างประเทศทำก็ไม่สามารถทำได้ เพราะฉะนั้นคนที่โรงหนังเค้าก็จะไม่ยอมให้เราทำ เพราะถ้าทำแบบนั้นขึ้นมา ทุกคนก็จะมาดูหนังในทีศัทพ์มือถือ ดูหนังในipad ดูหนังในคอมพิวเตอร์กันหมด โดยที่ไม่ออกไปดูหนังในโรงภาพยนตร์

พิธีกร : ถ้าอย่างนั้นแล้วดูเหมือนในกระแสนึงมันทำให้เราเห็นมุมมองที่กว้างไกลขึ้น เห็นตัวอย่าง เห็นหนังดีๆของประเทศต่างๆมากขึ้น แต่ในทางกลับกันในโลกธุรกิจ ดูเหมือนทำลายระบบอุตสาหกรรมหนังของทั่วโลกเลยด้วยซ้ำ

คุณนนทรีย์ นิมิบุตร : มันมีทั้งทำลายและมีทั้งสร้างสิ่งใหม่ๆขึ้นมา การทำลายก็คือ เรามีรายได้จากการทำหนังน้อยลง หลายท่านคงยังไม่รู้ว่าหนังไทยส่งออกไปยังต่างประเทศมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 15 ปีที่แล้วส่งออกกันเป็นเรื่องเป็นราว มีเงินเข้าประเทศเป็นหมื่นๆล้านบาท แต่ในปัจจุบันนี้ด้วยโลกออนไลน์ที่มันแทรกเข้ามามันเลยทำให้การส่งออกภาพยนตร์ของไทยไปต่างประเทศมันทำไม่ได้แล้ว มันไม่จำเป็นแล้ว 

ฉะนั้นหนังในปัจจุบันเราแทบจะขายไม่ได้เลย มันเหมือนกับมูลค่ามันหายไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่มันคือการค้าขายในระบบออนไลน์ แบบ netflix หรืออีกหลายๆเจ้า มันคือการทำภาพยนตร์หนึ่งเรื่องแล้วการันตีได้เลยว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องได้ฉายไปทั่วโลกแน่นอน อย่างหนัง 1เรื่อง หรือซีรี่ 1 ซีรี่ ถ้ามันฮิตขึ้นมา มูลค่ามันมหาศาลมาก ตอนนี้ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ค่อนข้างจะมีชื่อเสียงหน่อยในประเทศไทย ทุกคนก็ถูก Netflix เรียกไปคุยหมด คือต้องเปลี่ยนเส้นทาง เปลี่ยนหนทางในการดำเนินชีวิต ซึ่งจริงแล้วเสียดายมากกับการที่อยากจะทำหนังเพื่อจะฉายในโรงภาพยนตร์ มันกลับกลายเป็นว่าเป็นผู้กำกับจอเล็ก ผู้กำกับจอโทรศัพท์

แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ บนโลกออนไลน์จริงๆสำหรับเด็กรุ่นใหม่ สังเกตได้เลยเวลาที่เค้าเข้าไปดูในอินเตอร์เน็ต ใน google ใน youtube หรือหนังโฆษณา หนังไวรัลอะไรก็แล้วแต่ เค้าจะดูที่เวลาก่อน ถ้ามันเกิน 3 นาทีขึ้นไปเค้าจะไม่ดูแล้ว คือความสนใจเค้าสั้นมาก เพราะว่าจอเค้าก็เล็ก เสียงก็ไม่ได้ดีอะไร เพราะงั้นความสนใจเค้าจะอยู่ประมาณ 3นาที โฆษณาเมื่อก่อนมี 45 30 15 วินาที ตอนนี้โฆษณาเหลือ 4 วินาที ก่อนที่มิวสิควิดิโอจะขึ้น ซึ่งมันก็ท้าทาย โลกออนไลน์มันทำให้บางสิ่งบางอย่างเปลี่ยนไป มันหมุนไปตามความต้องการของคนรุ่นใหม่

พิธีกร : ปรากฏการณ์หนังในบ้านเรา เราจะเห็นหนังตลกฮา หนังผี หนังวัยรุ่น หนังอย่างอื่นทำเสี่ยงมาก อยากให้เปรียบเทียบมิติในบ้านเรา กับฮอลลีวูด หรือเมืองคานส์ เค้าดูเค้าสนใจแตกต่างกันอย่างไรบ้าง?

คุณนนทรีย์ นิมิบุตร : เมืองไทยกับเมืองนอกไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่ ทำไมเรามีแต่หนังผี หนังตลกหรือตอนนี้เค้านิยมคำว่า โรแมนติกคอมเมดี้ เพราะอะไร เรามีแต่หนังแบบนี้เพราะทุกคนแต่คิดว่ากลุ่มคนดูนั้นคือวัยรุ่นเท่านั้น หรือคนที่มาซื้อตั๋วหนังคือคนที่ไม่ได้หาเงิน ก็คือว่านักเรียน นิสิต นักศึกษา เค้าจะไม่ใช่คนที่หาเงิน เค้าจะเป็นคนใช้เงิน เพราะฉะนั้นแล้วทุกคนก็จะพุ่งไปหาคนใช้เงิน เค้าไม่พุ่งไปที่คนหาเงิน เพราะคนหาเงินเค้ามีความระมัดระวังในการใช้เงิน แต่ว่าใช้เงินไม่ได้หาเงินเค้าจะไม่ระมัดระวัง อาทิตย์นึงเค้าสามารถที่จะดูหนัง 2เรื่องได้ ในราคา 400-500 บาท แต่ว่าคนที่หาเงินไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะฉะนั้นทุกคนก็จะพุ่งทำหนังไปที่คนในกลุ่มนั้น ที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่เป็น target คนดู หนังที่วัยรุ่นชอบดูก็จะมีเหลือเท่านี้ คือ โรแมนติกคอมเมดี้ ตลก และก็ผี มันเลยทำให้บริษัทผู้สร้างพุ่งไปที่หนังประเภทนี้เท่านั้น

พิธีกร : หนังไทยในเวทีโลก จุดยืนไทยในเวทีโลกของหนังหรือภาพยนตร์จะเป็นอย่างไรต่อไป?

คุณนนทรีย์ นิมิบุตร : จากเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ยังยืนยันว่าการเป็นตัวตนของเราเป็นสิ่งที่ฝรั่งสนใจที่สุด น้องๆหลายคนที่เอาโปรเจคมานำเสนอ เฮ้ยพี่ เรื่องนั้ผมจะทำแบบ Mavel, สตีเวน สปีลเบิร์กเลย หรือแบบคนนั้นคนนี้ แล้วจะทำทำไมในเมื่อเค้าทำไปแล้ว  ทำไม่เราไม่ทำหนังในแบบตัวตนของเรา เหมือนกับงานศิลปะในแบบของเรา
ความเป็นตัวตนของเรา คิดแบบเรา ไม่มีตังก็ทำแบบไม่มีตัง จนก็ทำแบบจน เชื่อยังไงก็ทำอย่างนั้น
ประเทศโลกที่ 3 อย่างเราฝรั่งเค้าชอบดูวิธีคิดของเราที่สุด การเมืองในแบบของเรา เอ้า... จะพูดเรื่องการเมืองทำไม เกือบไปแล้ว ฮาาาา เหมือนไม่ว่าจะเกิดวิกฤตอะไรในประเทศไทยของเราก็จะมีวิธีของเรา ฝรั่งเค้าก็จะชอบดูวิธีการตัดสินใจของเรา วิธีการที่เป็นตัวตนของเราเป็นสิ่งที่ไม่ใช่แค่ฝรั่ง ทั่วโลกในเอเซียสนใจเรามากที่สุด สังเกตจากหนังที่ออกไปขายในเมืองนอกได้ หนังที่ยังออกไปยังได้รางวัลในต่างประเทศ มันก็คือวิธีการที่เป็นตัวตนของเรามากที่สุดคือเป็นหนังที่เค้าสนใจมากที่สุดจริงๆ

 

ภาพประกอบในการตอบคำถามของวิทยากร ในงานรางวัลยุวศิลปินไทย สัญจร ครั้งที่ 1
ประชาสัมพันธ์ / ถ่ายภาพ / เรียบเรียง : ContestWar

Members Online

There are currently 0 users online.