^ Back to Top

การทำวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยม รางวัล "กำพล วัชรพล"

การทำวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยม รางวัล "กำพล วัชรพล"

ด้วยมูลนิธิไทยรัฐจะมอบรางวัลแก่ผู้มีผลงานในการทำวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยม ประจำปี ๒๕๕๕ ด้านวารสารศาสตร์ สื่อสารมวลชนและนิเทศศาสตร์ หรือสาขาวิชาที่ได้ศึกษาวิจัยอันเป็นประโยชน์แก่วงการสื่อสารมวลชน เช่น การผลิต การตลาด การโฆษณา เทคโนโลยีการพิมพ์ ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา และเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ นายกำพล วัชรพล อดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ตามหลักเกณฑ์ประกาศรางวัล "กำพล วัชรพล"

วิทยานิพนธ์ที่จะส่งเข้าประกวดได้จะต้องเป็นวิทยานิพนธ์ที่ได้รับการอนุมัติจากมหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๕
ผู้สนใจสามารถส่งผลงานเข้าประกวดได้ที่มูลนิธิไทยรัฐระหว่างวันที่ ๑ สิงหาคม - ๑๕ กันยายน ๒๕๕๕
วิทยานิพนธ์ที่ได้รับการตัดสินให้เป็นวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมจะได้รับรางวัลเงินสด ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาทถ้วน) พร้อมด้วยโล่และประกาศเกียรติคุณ

ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดและขอรับใบสมัครได้ที่
สำนักงานมูลนิธิไทยรัฐ อาคารรับโฆษณา ชั้น ๔ เลขที่ ๑ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐
หมายเลขโทรศัพท์ ๐๒-๑๒๗-๑๐๖๔, ๐๒-๒๗๒-๑๐๓๐ ต่อ ๑๑๘๖-๑๑๘๘ ได้ทุกวัน ยกเว้นวันหยุดราชการและวันนักขัตฤกษ์

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขมีดังต่อไปนี้
๑. ลักษณะของวิทยานิพนธ์ที่ดี วิทยานิพนธ์อันเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญามหาบัณฑิต หรือดุษฎีบัณฑิตทางวารสารศาตร์ สื่อสารมวลชนและนิเทศศาสตร์ หรือสาขาอื่นที่ศึกษาวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อวงการสื่อสารมวลชนสมควรแก่การได้รับรางวัลโดยจะพิจารณาจากด้านต่างๆ ดังนี้
๑.๑ วิธีการ (Methodology) พิจารณาว่าผลงานวิจัยนั้นมีวิธีการทางระเบียบวิจัยที่ถูกต้อง
๑.๒ เนื้อหา (Substantial Content) พิจารณาว่าผลงานวิจัยนั้นมีส่วนในการเพิ่มพูนเนื้อหาให้กับองค์ความรู้ทางด้านหนังสือพิมพ์และสื่อสารมวลชนอื่นๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมต่อการพัฒนางานหนังสือพิมพ์และสื่อสารมวลชนอื่นๆ ที่มีส่วนในการขยายแนวคิดและทฤษฎีทางสื่อมวลชนและมีข้อเสนอแนะ หรือการอภิปรายที่สามารถเป็นแนวทางประยุกต์ใช้ปฏิบัติได้
๑.๓ นโยบาย (Policy Implication) พิจารณาว่า วิทยานิพนธ์นั้นมีการเรียบเรียงข้อความและการนำเสนอที่เข้าใจง่าย ถูกต้องและเป็นระบบ
๑.๔ การนำเสนอ (Presentation/Organization) พิจารณาว่าวิทยานิพนธ์นั้น มีนัยทางนโยบายพอที่จะนำไปแก้ปัญหาต่างๆ ทางด้านสื่อสารมวลชนได้

๒. ผู้มีสิทธิ์ได้รับรางวัล เจ้าของวิทยานิพนธ์ที่บัณฑิตวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยแห่งใดแห่งหนึ่งภายในประเทศได้ให้คำรับรองแล้วว่าเป็นผลงานวิจัยที่มีความสมบูรณ์ ควรค่าแก่ปริญญาระดับบัณฑิตศึกษา หรือที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นแล้วแต่กรณี และเจ้าของผลงานเป็นผู้ส่งเข้าประกวดตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการตามข้อ ๓ กำหนด

๓. ผู้พิจารณาให้รางวัล การพิจารณาให้รางวัลเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการคณะหนึ่ง จำนวน ๘ คน ซึ่งแต่งตั้งโดยประธานมูลนิธิไทยรัฐ ประกอบด้วยกรรมการจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มูลนิธิไทยรัฐ จำนวน ๔ คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านวารสารศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์จำนวน ๔ คน ให้ร่วมกันคัดเลือกวิทยานิพนธ์ประเภทปริญญามหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตยอดเยี่ยม ประจำปี ๒๕๕๕ ตามหลักเกณฑ์ในข้อ ๑ เพื่อรับรางวัลนี้ ปีละ ๑ ครั้ง มีเงินรางวัล ๒๐๐,๐๐๐ บาท (สองแสนบาทถ้วน) พร้อมโล่และประกาศเกียรติคุณ

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ตามวรรคแรกอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อช่วยเหลือในการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์

มูลค่าเงินรางวัลรวม: 
200,000 Baht
File attachments: 
หมดเขต: 
01 ส.ค. 2012 10:00 to 15 ก.ย. 2012 16:00

Members Online

There are currently 0 users online.