^ Back to Top

ประกวดนวัตกรรมสีเขียว ประจำปี 2560 : Youth Greenovation Awards 2017

ประกวดนวัตกรรมสีเขียว ประจำปี 2560 : Youth Greenovation Awards 2017

มูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม ร่วมกับ กลุ่ม ปตท. และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ขอเชิญนักเรียนมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา หรือเทียบเท่า ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดนวัตกรรมสีเขียว ประจำปี 2560 : Youth Greenovation Awards 2017 ภายใต้แนวคิด “ปลูกนวัตกรรม ปั้นนวัตกิจ ปลุกจิตสำนึกสีเขียว” ในหัวข้อ “นวัตกรรมสีเขียวสู่ธุรกิจเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา และโอกาสไปแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระดับนานาชาติ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

คุณสมบัติและเงื่อนไข
1. ประกอบด้วยสมาชิกไม่เกิน 2 คน และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน 1 ท่าน
2. สมาชิกในทีมทุกคนต้องเป็นนักเรียน นิสิตหรือนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย อาชีวศึกษา (ปวช. ปวส. ปวท. หรือเทียบเท่า) และกำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษานั้น ๆ ในภาคเรียนที่ 1/2560
3. อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานจะต้องมีตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำของสถาบันการศึกษานั้นๆ
4. ไม่สามารถเปลี่ยนตัวสมาชิกและอาจารย์ที่ปรึกษาได้ ยกเว้นในกรณีฉุกเฉินที่ผ่านการพิจารณา และได้รับอนุญาตจากทางมูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม เท่านั้น

กติกาการประกวดในโครงการ Youth Greenovation Awards 2017
1. นิยามเชิงปฏิบัติการ

  • “การแข่งขัน” หมายถึง การประกวดโครงงานและสิ่งประดิษฐ์ในโครงการ Youth Greenovation Awards 2017
  • “ผลงาน” หมายถึง โครงงานวิทยาศาสตร์ สิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรม ที่เข้าร่วมประกวดในการแข่งขัน
  • “ผู้เข้าแข่งขัน” หมายถึง นักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น หรือชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือนักศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) ที่เข้าร่วมการแข่งขันในการแข่งขัน
  • “ทีมแข่งขัน” หมายถึง ผู้เข้าแข่งขันที่รวมกลุ่มกันเพื่อส่งผลงานเข้าประกวดในการแข่งขัน

2. ประมวลจริยธรรม

  • ผู้เข้าแข่งขันต้องซื่อสัตย์ และมีคุณธรรมในทางวิชาการและการจัดการ
  • ผู้เข้าแข่งขันต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ศึกษาวิจัย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิต หรือไม่มีชีวิต
  • ผู้เข้าแข่งขันพึงหลีกเลี่ยงการเก็บข้อมูล และ/หรือ สร้างข้อมูลอันเป็นเท็จ การลอกเลียนวรรณกรรม (plagiarism) หรือการใช้องค์ความรู้ของผู้วิจัยอื่นโดยปราศจากการอ้างอิงที่เหมาะสม

3. คุณสมบัติของผู้เข้าร่วม และผลงานที่เข้าร่วมการแข่งขัน

  • ผู้เข้าแข่งขันจะต้องกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นที่สมัครระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2560
  • ทีมแข่งขันต้องประกอบด้วยสมาชิกไม่เกินจำนวน 2 คนในระดับการศึกษาเดียวกัน และอาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน
  • ทีมแข่งขันสามารถส่งผลงานได้ไม่เกิน 1 ผลงานต่อทีม
  • ทีมแข่งขันไม่สามารถนำผลงานรูปแบบเดิมที่เคยเข้าร่วมการประกวดในโครงการ Youth Greenovation Awards ในอดีตมาเข้าร่วมได้อีก นอกเสียจากว่าผลงานชิ้นดังกล่าวได้รับการพัฒนาและปรับปรุงขึ้นจากผลงานเดิมก่อนหน้านี้ 

4. ข้อตกลงทั่วไป

  • ผู้เข้าแข่งขันต้องปฏิบัติตามระเบียบที่ให้ไว้ในเอกสารฉบับนี้ทุกประการ
  • ผู้เข้าแข่งขันทุกคนในทีมแข่งขันต้องมีส่วนร่วม เข้าใจ และเข้าถึงทุกแง่มุมของผลงานในทีมตน
  • ผู้เข้าแข่งขันควรใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการประดิษฐ์ การเก็บข้อมูล และการประมวลผลข้อมูล และพยายามใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และอธิบายผลงานของตนเองให้ได้มากที่สุด
  • ผลงานของผู้เข้าแข่งขันอาจเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัย และ/หรือ การประดิษฐ์ในระดับอุดมศึกษา หรือในสถาบันวิจัยได้ แต่ผู้เข้าแข่งขันต้องระบุขอบเขตผลงานของตนเองอย่างชัดเจน และผลการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับผลงานเฉพาะส่วนของผู้เข้าแข่งขันเท่านั้น
  • ผลงานที่เข้าร่วมต้องปราศจากการใช้งานของสิ่งต่อไปนี้
    • สัตว์ทดลองที่มีกระดูกสันหลัง (vertebrate animals)
    • สารชีวภาพ (biological agents)
    • จุลชีพก่อโรค (pathogens)
    • เนื้อเยื่อของสัตว์ และ/หรือ มนุษย์ (animal and/or human tissues)
    • สารเคมีอันตราย (hazardous chemicals) ตามที่ระบุในข้อบังคับสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี www.fda.moph.go.th/psiond/download/Regulation.pdf
    • สารกัมมันตรังสี (radioactive materials) ทีมแข่งขันที่ฝ่าฝืนจะถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขันทันที
  • คณะกรรมการประกวดสามารถตัดสิทธิ์ผลงานที่มีส่วนประกอบของอุปกรณ์ไฟฟ้า วงจรอิเล็กทรอนิกส์ หรือสารเคมี ที่คณะกรรมการลงความเห็นว่า อาจก่อให้เกิดอันตรายระหว่างการใช้งานได้
  • ผลงานที่เข้ารอบ 45 ทีมสุดท้ายไม่สามารถส่งผลงานชิ้นดังกล่าวเข้าประกวดในโครงการอื่น ๆ ได้จนกว่าจะสิ้นสุดการดำเนินโครงการ ฯ หากตรวจพบการกระทำผิดตามข้อตกลงข้างต้น ขอสงวนสิทธิ์การตัดสิทธิ์โครงงานโดยไม่แจ้งล่วงหน้า
  • 45 ทีมสุดท้ายจะได้รับเงินสนับสนุนโครงงาน ภายใต้งบประมาณดังนี้
    • ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น งบประมาณ 8,000 บาท
    • ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย งบประมาณ 10,000 บาท
    • อาชีวศึกษา (ปวช. ปวส. ปวท.) หรือเทียบเท่า งบประมาณ 12,000 บาท
  • ผลการตัดสินจากคณะกรรมการการประกวดถือเป็นที่สิ้นสุด

ขั้นตอนการสมัคร
1. ทีมแข่งขันในทุกระดับชั้นจะต้องลงทะเบียนผลงานที่เข้าร่วมประกวดด้วยระบบออนไลน์ที่ www.yga2017.com ภายในวันที่ 26 พฤษภาคม 2560
2. ไฟล์เอกสาร (ไฟล์สกุล .docx และไฟล์สกุล .pdf) ที่ทีมแข่งขันต้องแนบมาในระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 26 พฤษภาคม 2560  ประกอบด้วย

  • หัวข้อผลงาน และบทคัดย่อความยาวไม่เกิน 300 คำ
  • เนื้อหาเกี่ยวกับผลงานอย่างละเอียดไม่เกิน 4 หน้ากระดาษ A4 ซึ่งอาจจะประกอบด้วย
    • ชื่อผลงาน
    • วัตถุประสงค์ และกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์จากผลงาน
    • แนวคิดการจัดทำสิ่งประดิษฐ์
    • หลักการ หรือทฤษฎีที่นำมาใช้ (ทฤษฎีอะไร นำมาใช้อย่างไร)
    • รายละเอียดวัสดุที่ใช้เบื้องต้น
    • ภาพร่างสิ่งประดิษฐ์
    • ข้อมูลอื่นๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้อง
  • ฟอร์ม YGA-01* เอกสารรับรองและอนุญาตให้ผู้เข้าแข่งขันและอาจารย์ที่ปรึกษาเข้าร่วมกิจกรรมตลอดโครงการ ลงนามโดยผู้อำนวยการสถาบันการศึกษา
  • ฟอร์ม YGA-02* เอกสารยอมรับในกติกา รับรองว่าผลงานนี้ไม่ได้อยู่ในระหว่างประกวดหรือส่งผลงานร่วมในโครงการอื่นๆ ยินยอมให้เผยแพร่ผลงาน/นวัตกรรมสู่สาธารณะ และยอมรับผลการติดสินของคณะกรรมการว่าถือเป็นที่สิ้นสุด ลงนามโดยอาจารย์ที่ปรึกษา
  •  ในกรณีที่ผลงานเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยในระดับที่สูงกว่า เช่น ในสถาบันวิจัยหรือมหาวิทยาลัย เป็นต้น ให้นำฟอร์ม YGA-03* เอกสารยินยอมให้ใช้บางส่วนของผลงานในการประกวด ให้นักวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของกลุ่มวิจัยในระดับที่สูงกว่า ลงนามยินยอม

เกณฑ์การตัดสิน
คณะกรรมการจะคํานึงถึงประเด็นต่อไปนี้
1. ทีมแข่งขันได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์ผลงานหรือไม่

  • ท่านได้ใช้ความคิดริเริ่ม (originality) และความคิดสร้างสรรค์ (creativity) มากน้อยเพียงใด
  • ท่านได้แก้ปัญหาด้วยกระบวนการที่เป็นเอกลักษณ์หรือไม่
  • ท่านได้สร้างหรือออกแบบอุปกรณ์ใหม่ในการแก้ปัญหาหรือไม่

2. ทีมแข่งขันได้ใช้ทักษะและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการสร้างผลงานหรือไม่

  • ท่านได้ระบุปัญหาที่ต้องการปรับปรุง/แก้ไขอย่างชัดแจ้งหรือไม่
  • ท่านได้ค้นคว้าวารสารทางวิทยาศาสตร์/วิศวกรรมศาสตร์ระหว่างการแก้ปัญหาหรือไม่
  • ท่านได้กําหนดตัวแปรต่าง ๆ ไว้อย่างครบถ้วนหรือไม่
  • ท่านได้กําหนดกลุ่มทดสอบ (controls) หรือไม่
  • ข้อสรุปของท่านคล้องจองกับข้อมูลที่ได้จากการศึกษาหรือไม่
  • ท่านได้พบและระบุข้อจํากัดในการเก็บข้อมูล หรือข้อจํากัดทางเครื่องมือหรือไม่
  • ท่านได้เสนอแนะแนวคิด และกระบวนการที่จะใช้ในการปรับปรุงผลงานของท่านในอนาคตหรือไม่

3. ทีมแข่งขันมีความละเอียดถี่ถ้วนในการสร้างสรรค์ผลงานเพียงใด

  • ท่านได้ใช้ความละเอียดรอบคอบในการผลิตผลงาน มีแผนการดําเนินงานที่เป็นระบบ ถูกต้องตาม กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากน้อยเพียงใด
  • ท่านได้ดําเนินการในทุกส่วนของผลงานจนกระทั่งสําเร็จลุล่วง และมีความสมบูรณ์หรือไม่
  • ท่านได้มีการเก็บข้อมูล จดเนื้อหาโดยละเอียด หรือมีการสร้างบันทึกการทํางาน (project journal) ในแต่ละวันหรือไม่

4. ผู้เข้าแข่งขันได้ใช้ทักษะและเครื่องมือที่เหมาะสมในการสร้างผลงานมากน้อยเพียงใด

  • ท่านได้ใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในการได้มาซึ่งข้อมูลหรือไม่
  • ผลงานของท่านประดิษฐ์ขึ้นภายในบ้าน โรงเรียน หรือห้องทดลองในมหาวิทยาลัย
  • อุปกรณ์ที่ท่านใช้มีที่มาอย่างไร ท่านประดิษฐ์เองหรือไม่ ท่านได้หยิบยืมมาจากที่ใด หรือท่านใช้อุปกรณ์ที่อยู่ในห้องวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีอุปกรณ์ครบครันอยู่แล้ว
  • ท่านได้ประดิษฐ์ผลงานด้วยตัวท่านเองหรือไม่ ท่านได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นหรือไม่ โปรดแจ้งต่อคณะกรรมการถึงผู้ช่วยเหลือ และปริมาณความช่วยเหลือที่ท่านได้รับทั้งหมดตลอดโครงการ

5. ทีมแข่งขันมีความชัดเจนในทุกรายละเอียดของการสร้างผลงาน
6. ผลงานของทีมแข่งขันมีส่วนช่วยพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างไร หรือสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างธุรกิจใหม่ (Startups) หรือธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprises) ได้อย่างไร

รางวัลสำหรับผู้ชนะการประกวด

  • มัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-ม.3)
    • รางวัลชนะเลิศ
      • ถ้วยพระราชทาน
      • ประกาศเกียรติคุณเยาวชนและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน
      • เงินสด 20,000 บาท (นักเรียน)
      •  เงินสด 20,000 บาท (โรงเรียน)
    • รองชนะเลิศ (2 รางวัล)
      • โล่
      • ประกาศเกียรติคุณเยาวชนและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน
      • เงินสด 10,000 บาท (นักเรียน)
      • เงินสด 10,000 บาท (โรงเรียน)
    • รางวัลชมเชย (7รางวัล)
      • โล่
      • ประกาศเกียรติคุณเยาวชนและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน
      • เงินสด 5,000 บาท
  • มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.4-ม.6)
    • รางวัลชนะเลิศ
      • ถ้วยพระราชทาน
      • ประกาศเกียรติคุณเยาวชนและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน
      • เงินสด 40,000 บาท (นักเรียน)
      • เงินสด 20,000 บาท (โรงเรียน)
    • รองชนะเลิศ (2 รางวัล)
      • โล่
      • ประกาศเกียรติคุณเยาวชนและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน
      • เงินสด 20,000 บาท (นักเรียน)
      • เงินสด 10,000 บาท (โรงเรียน)
    • รางวัลชมเชย (7รางวัล)
      • โล่
      • ประกาศเกียรติคุณเยาวชนและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน
      • เงินสด 6,000 บาท
  • อาชีวศึกษา (ปวช. ปวส. ปวท.) หรือเทียบเท่า
    • รางวัลชนะเลิศ
      • ถ้วยพระราชทาน
      • ประกาศเกียรติคุณเยาวชนและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน
      • เงินสด 60,000 บาท (นักเรียน)
      • เงินสด 20,000 บาท (โรงเรียน)
    • รองชนะเลิศ (2 รางวัล)
      • โล่
      • ประกาศเกียรติคุณเยาวชนและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน
      • เงินสด 30,000 บาท (นักเรียน)
      • เงินสด 10,000 บาท (โรงเรียน)
    • รางวัลชมเชย (7รางวัล)
      • โล่
      • ประกาศเกียรติคุณเยาวชนและอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงาน
      • เงินสด 7,000 บาท

หมายเหตุ

  • กรรมสิทธิ์ของผลงานที่ได้รับรางวัล
  • ผลงานของที่ได้รับรางวัลชนะเลิศถือเป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม (Power of Innovation Foundation)

กำหนดการการประกวด แบ่งออกเป็น 2 ระยะ  

  • ระยะที่ 1 ประกาศรับสมัครและคัดเลือกผลงาน 45 ทีมและค่าย “นวัตกรรมสู่นวัตกิจ”
    • เริ่มสมัครที่ www.yga2017.com : วันที่ 29 มีนาคม 2560
    • หมดเขตส่งผลงาน : วันที่ 26 พฤษภาคม 2560
    • ประกาศผลเข้ารอบ 45 ทีม : วันที่ 9 มิถุนายน 2560
    • 45 ทีมเข้าร่วมค่าย “นวัตกรรมสู่นวัตกิจ” : วันที่ 8-10 กรกฎาคม 2560
  • ระยะที่ 2 การติดตามผลและการตัดสินรอบ 45 ทีม และรอบชิงชนะเลิศ
    • ผลิตผลงาน : 11 กรกฎาคม – 20 ตุลาคม 2560
    • ลงพื้นที่ติดตามผลงาน : 15 สิงหาคม – 30 กันยายน 2560
    • นำเสนอผลงาน 45 ทีม : วันที่ 21-22 ตุลาคม 2560
    • ประกาศผล 9 ทีมสุดท้าย : วันที่ 22 ตุลาคม 2560
    • ตัดสิน และประกาศผลรอบชิงชนะเลิศ : วันที่ 18 พฤศจิกายน 2560

หมายเหตุ
ทั้งนี้การกำหนดวันเวลาสถานที่ในการจัดกิจกรรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามที่มูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม (Power of Innovation Foundation) เห็นสมควร

ติดต่อสอบถาม

  • มูลนิธิพลังสร้างสรรค์นวัตกรรม (Power of Innovation Foundation)
    ฝ่ายประสานงานโครงการนวัตกรรมสีเขียว ประจำปี 2560
    สำนักงานใหญ่ 555 ถ.วิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900
  • ผู้ประสานงาน: คุณนีรนุช ตามศักดิ์
    โทรศัพท์ : 088-490-9448
    Line ID: @greenovation  
  • Website : www.yga2017.com  สำหรับรายละเอียดและสมัครออนไลน์
  • Facebook : www.facebook.com/youthgreenovationawards/  
  • E-mail : youthgreenovationawards@gmail.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ : คุณนีรนุช ตามศักดิ์

มูลค่าเงินรางวัลรวม: 
1,000,000 Baht
หมดเขต: 
21 เม.ย. 2017 10:00 to 26 พ.ค. 2017 16:00

Members Online

There are currently 0 users online.