ประกวดโครงการ ในโครงการ "ชุมชน คนรุ่นใหม่ เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ"
ศูนย์คนรุ่นใหม่ใจอาสาเพื่อผู้ประสบภัย หรือ Gen-V ขอเชิญนิสิต นักศึกษา เยาวชนหรืออาสาสมัครในชุมชน ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดโครงการ ในโครงการ "ชุมชน คนรุ่นใหม่ เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ" ชิงทุนสนับสนุนกิจกรรมภายใต้โครงการ ไม่เกิน 150,000 บาท
วัตถุประสงค์
1. ส่งเสริมและสนับสนุนให้อาสาสมัครคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนที่เกิดภัยพิบัติเป็นประจำ และพัฒนาศักยภาพสู่การเป็นอาสาสมัครเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ
2. สร้างกลไกความร่วมมือการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติระหว่างอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคีเครือข่ายจากภายนอก
กลุ่มเป้าหมาย
1. เป้าหมายหลัก
- อาสาสมัครคนรุ่นใหม่ นิสิต นักศึกษา เยาวชนหรืออาสาสมัครในชุมชนที่มีความสนใจเรียนรู้ประเด็นภัยพิบัติในชุมชนพื้นที่ประสบภัยหรือพื้นที่เสี่ยง ต้องการพัฒนาศักยภาพการเป็นอาสาสมัครเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในชุมชน และมีความสนใจพัฒนาตนเองเป็นแกนนำอาสาสมัคร จำนวน 12 กลุ่ม ได้แก่
- กลุ่มนิสิตนักศึกษา สังกัดสถาบันการศึกษาที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดเดียวกันกับชุมชนพื้นที่ เป้าหมาย จำนวน 6 กลุ่ม
- กลุ่มเยาวชนหรืออาสาสมัครชุมชน อาศัยอยู่ในชุมชนพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 6 กลุ่ม
- ผู้นำชุมชนหรือสมาชิกชุมชน พื้นที่ประสบภัยหรือพื้นที่เสี่ยงที่กลุ่มอาสาสมัครคนรุ่นใหม่เข้าไปทำกิจกรรม มีความสนใจร่วมสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ และพัฒนาตนเองสู่การเป็นแกนนำชุมชนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ จำนวน 12 ชุมชน
2. เป้าหมายรอง
หน่วยงานในพื้นที่และภาคีเครือข่าย เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน สถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มของอาสาสมัครคนรุ่นใหม่หรือร่วมสนับสนุนชุมชนให้มีการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ
เงื่อนไขในการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ
- เสนอแนวคิดเพื่อคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ตามแบบรูปแบบที่กำหนดให้
- กรณีกลุ่มนิสิตนักศึกษา สถาบันการศึกษาที่สังกัดอยู่ในเขตจังหวัดหรือจังหวัดใกล้เคียงชุมชนพื้นที่ภัยพิบัติเป้าหมายที่ใช้ดำเนินกิจกรรม
- กรณีกลุ่มเยาวชนหรืออาสาสมัครชุมชน อาศัยอยู่ในชุมชนที่เกิดภัยพิบัติต่อเนื่องเป็นประจำ
- มีผู้รับผิดชอบโครงการ 5-10 คน และมีที่ปรึกษาโครงการเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาหรือผู้นำชุมชนพื้นที่เป้าหมาย ที่มีส่วนร่วมตลอดระยะเวลาโครงการอย่างน้อย 1 คน
- เสนอแนวคิด วัตถุประสงค์ แนวทางการดำเนินกิจกรรมในกรอบประเด็นภัยพิบัติ ได้แก่ดินโคลนถล่ม นํ้าหลาก นํ้าท่วม และประเด็นการจัดการนํ้าที่เกี่ยวข้องที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ชุมชนเป้าหมาย
- เสนอแผนตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในเบื้องต้น ซึ่งประกอบไปด้วย การเตรียมพร้อมก่อนเกิดภัย, การปฏิบัติงานระหว่างเกิดภัย และการฟื้นฟูและบรรเทาสถานการณ์หลังเกิดภัยพิบัติ
- แกนนำผู้รับผิดชอบหรือสมาชิกโครงการสามารถเข้าร่วมกิจกรรมตลอดระยะเวลาโครงการ
- การดำเนินกิจกรรม เวที หรือกระบวนการภายใต้โครงการต้องมีเยาวชน อาสาสมัครชุมชน สมาชิกชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วมหรือให้สนับสนุนการดำเนินงาน
- นำเสนอรายละเอียดค่าใช้จ่ายการดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการที่เสนอในกรอบวงเงินไม่เกิน 150,000 บาท
- ยื่นข้อเสนอโครงการเพื่อพิจารณาภายในวันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม 2557
พื้นที่เป้าหมาย
กลุ่มอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ใช้พื้นที่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบหรือมีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติเป็นฐานในการศึกษาเรียนรู้และดำเนินโครงการ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ภูมิภาค ภูมิภาคละ 3 พื้นที่ โดยมีพื้นที่เป้าหมายที่คาดหวังให้เป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้เรื่องภัยพิบัติชุมชน ในกรอบประเด็น ดินโคลนถล่ม นํ้าหลาก นํ้าท่วม รวมถึงประเด็นการจัดการนํ้าที่เกี่ยวข้อง
กรอบแนวคิดโครงการ
โครงการ “ชุมชน คนรุ่นใหม่ เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ” ของศูนย์คนรุ่นใหม่ใจอาสา Gen-V มีเป้าหมายการทำงานในประเด็นภัยพิบัติกับอาสาสมัครคนรุ่นใหม่เป็นหลัก ซึ่งในปีนี้กำหนดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนํ้า ได้แก่ ดินโคลนถล่ม นํ้าท่วม นํ้าหลาก และการจัดการนํ้า โดยมีชุนชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทั่วประเทศเป็นพื้นที่สำหรับการ
ศึกษาเรียนรู้และสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติของกลุ่มอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ร่วมกับชุมชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย
แผนการดำเนินโครงการ
1. ศึกษาข้อมูลภัยพิบัติเพื่อเสนอโครงการ
2. เวทีสัมมนาแนวทางการทำงานของคณะทำงานโครงการร่วมกับภาคีเครือข่ายที่ทำงานเรื่องภัยพิบัติ เพื่อกำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกโครงการ และออกแบบหลักสูตรกระบวนการทำงานโครงการ
3. ประชาสัมพันธ์เปิดรับโครงการ ผ่านโปสเตอร์ สื่อสาธารณะ สื่อสังคมออนไลน์
4. คัดเลือกกลุ่มจากข้อเสนอแนวคิดโครงการเพื่อเข้าร่วมเวทีพัฒนาแนวคิดโครงการและพัฒนาศักยภาพการเป็นอาสาสมัครเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ จำนวน 20 โครงการ
5. เวทีพัฒนาศักยภาพและพัฒนาโครงการ แบ่งเนื้อหาการพัฒนาออกเป็น 2 ส่วน
- พัฒนาคน เนื้อหาประกอบด้วย
- ทัศนะคติในการทำงานเพื่อสังคม
- การตระหนักรู้ในบทบาทของตนเองที่มีต่อสังคมและเข้าใจสิทธิพลเมือง
- การทำงานอาสาสมัครร่วมกับผู้อื่นและการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้เข้าร่วมเวที
- สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมภายในทีม กับชุมชนและภาคีเครือข่าย
- กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้กับอาสาสมัครคนรุ่นใหม่
- การเตรียมตัวเป็นอาสาสมัครที่จะเข้าไปช่วยเหลือชุมชนพื้นที่ประสบภัยพิบัติ
- พัฒนาโครงการ เนื้อหาประกอบด้วย
- ค้นหาศักยภาพ ความถนัด ความสามารถ จุดเด่น ภายในของแต่ละโครงการ เพื่อกำหนด เป้าหมายของแต่ละโครงการในการทำงานในครั้งนี้
- วิเคราะห์สถานการณ์ภัยพิบัติในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต เพื่อที่จะได้เห็นแนวทางในการทำงาน
- เตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น
- ทบทวนโครงการ เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้เป็นไปในทิศทางและเป้าหมายเดียวกันกับโครงการหลัก หลักจากนั้นให้ส่งตัวปรับปรุงแก้ไขเพื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกต่อไป
6. กลุ่มอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ปรับปรุงและพัฒนาโครงการให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคัดเลือก
7. ประกาศผลโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุน จำนวน 12 โครงการ
8. เวทีพัฒนาเครื่องมือสำรวจชุมชนและการเขียนแผนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติชุมชน เครื่องมือในการสำรวจชุมชน เพื่อให้อาสาสมัครคนรุ่นใหม่ ได้มีเครื่องมือ ทักษะ ความรู้ที่จำเป็นในการเก็บข้อมูลจากชุมชนที่ลงไปศึกษา เป็นเครื่องมืออย่างง่าย ไม่มีความซับซ้อน แต่มีประสิทธิภาพในการทำความเข้าใจ และสื่อสารกับคนในชุมชน
การเขียนแผนเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ เป็นการจัดการภัยพิบัติโดยใช้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการป้องกัน แก้ไข บรรเทาฟื้นฟูความเสียหายจากภัยพิบัติโดยชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผน ตัดสินใจ กำหนดแนวทางแก้ปัญหาและบริหารจัดการภัย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความเสี่ยงภัยของชุมชน และเพิ่มขีดความสามารถให้คนในชุมชนได้ระงับบรรเทาภัยได้
9. เวทีพัฒนาเครื่องสือสื่อสารและการรณรงค์ พัฒนาให้อาสาสมัครคนรุ่นใหม่ได้มีเครื่องการ ความรู้ทางการสื่อสาร การคิดงานรณรงค์ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือการนำเสนอสารจากชุมชนไปยังสังคมภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
10. กลุ่มอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ที่ได้รับทุนสนับสนุน ทั้ง 12 กลุ่มดำเนินกิจกรรมตามแผนการดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติ ระยะเวลาดำเนินการ 7 เดือน ตั้งแต่ มีนาคม ถึง กันยายน 2558
11. รายงานความก้าวหน้า 2 ครั้งคือ พฤษภาคม และกรกฎาคม 2558
12. สรุปบทเรียนโครงการและเวทีนำเสนอ เป็นเวทีที่ให้กลุ่มอาสาสมัครสรุปผลการดำเนินโครงการ และประมวลความรู้เพื่อนำเสนอและคืนความรู้กลับสู่ชุมชน
กำหนดการ (อาจมีการเปลี่ยนแปลง)
- ประชาสัมพันธ์เปิดรับสมัคร 1 พฤศจิกายน – 26 ธันวาคม 2557
- คัดเลือกโครงการ รอบแรก (20 กลุ่ม) 5 – 8 มกราคม 2558
- ประกาศผล และแจ้งทางโทรศัพท์ 9 มกราคม 2558
- เวทีพัฒนาศักยภาพ/โครงการ 23-25 มกราคม 2558
- กลุ่มอาสาสมัครปรับปรุงและพัฒนาโครงการ 26 มกราคม – 13 กุมภาพันธ์ 2558
- คัดเลือกโครงการ รอบสอง (12 กลุ่ม) 14-18 กุมภาพันธ์ 2558
- ประกาศผลผู้รับทุนสนับสนุน 19 กุมภาพันธ์ 2558
- เวทีพัฒนาเครื่องมือชุมชนและจัดทำแผนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ 27, 28 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2558
- เวทีพัฒนาเครื่องมือสื่อและการรณรงค์ 27-29 มีนาคม 2558
- กลุ่มผู้รับทุนดำเนินโครงการ 1 มีนาคม ถึง 30 กันยายน 2558
- รายงานความก้าวหน้า ครั้งที่ 1และ 2 1 พฤษภาคม และ 31 กรกฎาคม 2558
- ซ้อมแผนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ภายในกันยายน 2558
- สรุปบทเรียนและนำเสนอ 18 – 20 กันยายน 2558
วิธีการส่งโครงการ
ส่งแนวคิดโครงการ ภายในวันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม 2557 มาที่
โครงการชุมชน คนรุ่นใหม่ เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ
เลขที่ 8/23 ซ.บ้านช่างหล่อ ถนนพรานนก แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพ 10700
ติดต่อสอบถาม
- โครงการชุมชน คนรุ่นใหม่ เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ (Gen-V for Disaster)
- ศูนย์คนรุ่นใหม่ ใจอาสา Gen-V
- Email: genv.disaster@gmail.com
- โทรศัพท์: 086-566-5532 (โชคชัย)
- Log in to post comments