ประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ โครงการ “รางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์ รุ่นใหม่” ประจำปี พ.ศ. 2558
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ขอเชิญนักเรียน นิสิต นักศึกษา ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ โครงการ “รางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์ รุ่นใหม่” ประจำปี พ.ศ. 2558 ชิงเงินรางวัล พร้อมถ้วยรางวัล และประกาศนียบัตร
วัตถุประสงค์ของการจัดประกวด
- ให้ได้ผลงาน ผลผลิต ผลิตภัณฑ์ กรรมวิธี กระบวนการ วิธีการ มาตรการหรือระบบ ตลอดจนนวัตกรรม วิทยาการใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มมูลค่า ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน สอดคล้องกับความต้องการและปัญหาสำคัญเร่งด่วนของประเทศ สามารถเชื่อมโยงสู่การพัฒนาต่อยอดร่วมกับอุตสาหกรรม หรือชุมชน
- กระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ได้แสดงแนวคิดและแสดงความรู้ความสามารถด้านการประดิษฐ์คิดค้น จนเกิดนักวิจัย หรือนักประดิษฐ์หน้าใหม่ที่มีคุณภาพ
- สร้างเครือข่ายความร่วมมือให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา และสถาบันการศึกษาได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์ โดยมีโอกาสนำเสนอผลงานประดิษฐ์คิดค้นต่อเวทีสาธารณะ และได้รับทราบข้อเสนอแนะและความคาดหวังของผู้ที่เกี่ยวข้อง จนเกิดการพัฒนาต่อยอด หรือเกิดการรังสรรค์นวัตกรรมที่เหมาะสมและมีศักยภาพต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสในการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และการพัฒนาประเทศในอนาคต
กำหนดระยะเวลา
สมัครได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗
ประเภทรางวัลและการให้รางวัล
1. ประเภทมัธยมศึกษา ประกอบด้วย ๓ กลุ่มเรื่อง คือ
- สิ่งประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ การนำไปใช้ การแก้ไขและฟื้นฟู การบำรุงรักษา การปรับปรุง การนำ สิ่งอื่นมาใช้แทน การลดปริมาณของเสียหรือการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงานทางเลือก รวมทั้งการแก้ปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นจากการทำลายสิ่งแวดล้อม และมีโอกาสเกิดขึ้นอีก หรือป้องกันปัญหาภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
- สิ่งประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาการเรียนการสอนและการเรียนรู้ เป็นสิ่งประดิษฐ์ วัสดุ อุปกรณ์ วิธีการ หรือนวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนการสอน และการเรียนรู้ ให้มีประสิทธิภาพ และประโยชน์ต่อการศึกษา ทั้งในการส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้า และเรียนรู้ หรือในด้านการพัฒนาสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เช่น สื่อการเรียนรู้ การจัดบรรยากาศการเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ เนื้อหาสาระของหลักสูตร การวัดและประเมินผล ในอันที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิผลสูงกว่าเดิม เกิดแรงจูงใจในการเรียน ประหยัดเวลาในการเรียน และส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ ให้ก้าวหน้าและดียิ่งขึ้น
- สิ่งประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาที่เกิดจากภูมิปัญญาไทย เป็นสิ่งประดิษฐ์คิดค้นที่สร้าง พัฒนา หรือดัดแปลงขึ้นจากภูมิปัญญาไทย โดยมีจุดมุ่งหมายในการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น เครื่องบริหารร่างกายจากภูมิปัญญา เครื่องทอผ้าขนาดเล็ก ฯลฯ
การให้รางวัล : แบ่งการให้รางวัลเป็นรายกลุ่มเรื่อง โดยในแต่ละกลุ่มเรื่องแบ่งการให้รางวัลในสัดส่วน ๖๐ : ๔๐ ดังนี้
- รางวัลชนะเลิศ กลุ่มเรื่องละ ๑ รางวัล ๆ ละ ๓๐,๐๐๐ บาท
- ผู้ประดิษฐ์ จะได้รับเงินรางวัลจำนวน ๑๘,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตร
- โรงเรียนต้นสังกัด จะได้รับเงินรางวัลจำนวน ๑๒,๐๐๐ บาท พร้อมถ้วยรางวัล
- รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๑ กลุ่มเรื่องละ ๑ รางวัล ๆ ละ ๒๕,๐๐๐ บาท
- ผู้ประดิษฐ์ จะได้รับเงินรางวัลจำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตร
- โรงเรียนต้นสังกัด จะได้รับเงินรางวัลจำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมถ้วยรางวัล
- รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๒ กลุ่มเรื่องละ ๑ รางวัล ๆ ละ ๒๐,๐๐๐ บาท
- ผู้ประดิษฐ์ จะได้รับเงินรางวัลจำนวน ๑๒,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตร
- โรงเรียนต้นสังกัด จะได้รับเงินรางวัลจำนวน ๘,๐๐๐ บาท พร้อมถ้วยรางวัล
- รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๓ กลุ่มเรื่องละ ๑ รางวัล ๆ ละ ๑๕,๐๐๐ บาท
- ผู้ประดิษฐ์ จะได้รับเงินรางวัลจำนวน ๙,๐๐๐ บาท พร้อมประกาศนียบัตร
- โรงเรียนต้นสังกัด จะได้รับเงินรางวัลจำนวน ๖,๐๐๐ บาท พร้อมถ้วยรางวัล
อนึ่ง หากไม่มีผลงานสมควรได้รางวัลชนะเลิศ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ และมีเงินรางวัลที่ยังไม่ได้จ่าย แต่มีผลงานในลำดับรองลงมาที่สมควรได้รับรางวัล ให้นำเงินรางวัลไปเพิ่มจำนวนรางวัลในระดับรองลงมาในกลุ่มเรื่องนั้นๆ ได้
2. ประเภทอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ประกอบด้วย ๔ กลุ่มเรื่อง คือ
- สิ่งประดิษฐ์เพื่อประโยชน์ทางการเกษตรเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นมาสำหรับใช้ใน การสนับสนุนการผลิตทางการเกษตร ทั้งในส่วนของการปลูก การเก็บเกี่ยวผลผลิต การบรรจุหีบห่อ และการขนส่งผลิตภัณฑ์ ฯลฯ
- สิ่งประดิษฐ์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นมาสำหรับใช้ในทางการแพทย์ การรักษา และฟื้นฟูสุขภาพ เช่น เครื่องมือทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ทางด้านการแพทย์ ชุดทดสอบ อุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- สิ่งประดิษฐ์เพื่อประโยชน์ด้านวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ OTOP และผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพของผลิตภัณฑ์ การบรรจุหีบห่อ ฯลฯ
- สิ่งประดิษฐ์เพื่อ สิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ การนำไปใช้ การแก้ไขและฟื้นฟู การบำรุงรักษา การปรับปรุง การนำ สิ่งอื่นมาใช้แทน การลดปริมาณของเสียหรือการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงานทางเลือก รวมทั้งการแก้ปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นจากการทำลายสิ่งแวดล้อม และมีโอกาสเกิดขึ้นอีก หรือป้องกันปัญหาภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต
การให้รางวัล : แบ่งการให้รางวัลเป็นรายกลุ่มเรื่อง โดยในแต่ละกลุ่มเรื่องแบ่งการให้รางวัล ดังนี้
- รางวัลชนะเลิศ กลุ่มเรื่องละ ๑ รางวัล ๆ ละ ๔๐,๐๐๐ บาท พร้อมถ้วยรางวัล
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ กลุ่มเรื่องละ ๑ รางวัล ๆ ละ ๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมถ้วยรางวัล
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ กลุ่มเรื่องละ ๑ รางวัล ๆ ละ ๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมถ้วยรางวัล
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๓ กลุ่มเรื่องละ ๑ รางวัล ๆ ละ ๑๐,๐๐๐ บาท พร้อมถ้วยรางวัล
อนึ่ง หากไม่มีผลงานสมควรได้รางวัลชนะเลิศ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ และมีเงินรางวัลที่ยังไม่ได้จ่าย แต่มีผลงานในลำดับรองลงมาที่สมควรได้รับรางวัล ให้นำเงินรางวัลไปเพิ่มจำนวนรางวัลในระดับรองลงมาในกลุ่มเรื่องนั้นๆ ได้
การเสนอขอรับรางวัลและคุณสมบัติของผลงานที่ขอรับรางวัล
- สิ่งประดิษฐ์ที่เสนอขอรับรางวัลในประเภทมัธยมศึกษา ต้องเสนอในนามของโรงเรียนมัธยมศึกษาที่นักเรียนจะต้องสอดคล้องกับกลุ่มเรื่องใด กลุ่มเรื่องหนึ่งตามที่กำหนด ทั้งนี้ ไม่เกิน ๕ ผลงาน และต้องแนบหลักฐานกระบวนการกลั่นกรองคัดเลือกผลงานให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น รายชื่อคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผลงานของโรงเรียนเข้าร่วมประกวด เป็นต้น
- สิ่งประดิษฐ์ที่เสนอขอรับรางวัลในประเภทอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ต้องเป็นผลงานของสถาบันการศึกษาระดับอาชีวศึกษา หรืออุดมศึกษาในประเทศไทย จะต้องสอดคล้องกับกลุ่มเรื่องใดกลุ่มเรื่องหนึ่งตามที่กำหนด
- สิ่งประดิษฐ์ที่เสนอขอรับรางวัล จะต้องเป็นผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ พร้อมจะนำไปใช้ประโยชน์ โดยมีเป้าหมายในการนำไปใช้จริง หรือมีผู้ส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ใช้ประโยชน์ หรือผู้ใช้บริการที่ชัดเจน ทั้งนี้ หากเป็นผลงานที่ได้มีการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านใดด้านหนึ่งแล้ว เช่น นำไปใช้ในการเรียนการสอน การผลิตในเชิงพาณิชย์ หรือมีสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา ให้แนบหลักฐานเพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณาของคณะกรรมการ
- สิ่งประดิษฐ์ที่เสนอขอรับรางวัล ต้องแสดงออกถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย หรือมีความ มีความปลอดภัย ความสะดวกในการใช้งาน ใช้วัสดุในการประดิษฐ์ที่เหมาะสมกับผลงาน หาได้ง่าย มีต้นทุนต่ำ โดยต้องมีการนําองค์ความรู้จากการวิจัย หรือหลักวิชาการที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้ หรือสนับสนุนการประดิษฐ์ค้นคว้า
- สิ่งประดิษฐ์ที่เสนอขอรับรางวัล หากเคยได้รับรางวัลจากการประกวดจาก วช. หรือจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมาก่อนแล้ว จะต้องได้รับการแก้ไข ปรับปรุง และพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยระบุให้เห็นข้อแตกต่างที่ชัดเจน โดยการได้รับรางวัลหนึ่งรางวัลใดมาก่อนจะไม่มีผลยอดผลงานให้ดีขึ้นเป็นสำคัญ
- วช. จะไม่พิจารณาสิ่งประดิษฐ์ที่ลอกเลียนแบบผลงานฯ ของผู้อื่น
- ผู้สนใจเสนอสิ่งประดิษฐ์ขอรับรางวัลต้องเสนอรายละเอียดผลงานตามแบบฟอร์มการเสนอผลงานให้ วช. พิจารณาภายในเวลาที่กำหนด
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เป็นผู้คัดเลือกตัดสินผลงานสิ่งประดิษฐ์ ที่สมควรได้รับรางวัล ซึ่งดำเนินงานโดยคณะกรรมการประเมินผลงานประดิษฐ์คิดค้น ในโครงการ “รางวัลนักคิดสิ่งประดิษฐ์ รุ่นใหม่” ประจำปี ๒๕๕๘ ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชน
ทั้งนี้ ผลการตัดสินของสำนักงานฯ ถือเป็นที่สุด จะอุทธรณ์มิได้ และหากพบหลักฐานในภายหลังว่าผลงานที่ได้รับรางวัลขาดคุณสมบัติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง สำนักงานฯ พิจารณาเพิกถอนผล การตัดสินและเรียกคืนรางวัลที่รับไปแล้วทั้งหมด
หลักเกณฑ์การพิจารณารางวัล
1. ความดีเด่น
- ความแปลกใหม่ เป็นผลงานที่เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้นที่พัฒนาขึ้นใหม่ หรือพัฒนารูปแบบวิธีการทำงานใหม่ให้ดีกว่าเดิมอย่างชัดเจน ผลงานมีความโดดเด่นน่าสนใจ และแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากสิ่งประดิษฐ์ชิ้นอื่นในประเภทเดียวกัน
- ความเป็นที่ต้องการ เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญที่มีอยู่นานแล้ว และมีคนพยายามแก้ด้วยวิธีต่าง ๆ มามากมายแต่ไม่สำเร็จ หรือเป็นผลงานที่สอดคล้องกับความจำเป็น หรือความต้องการของชุมชน สังคม ท้องถิ่น หรือสาธารณะ
- คุณค่าทางเศรษฐกิจและการใช้สอย เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าได้มาก หรือสามารถลดค่าใช้จ่ายในการผลิตลงได้มาก เมื่อเทียบกับผลงานสิ่งประดิษฐ์อย่างเดียวกัน หรือเป็นผลงานที่ใช้ง่าย ผลิตได้ง่าย ค่าใช้จ่ายต่ำ
- ความยากง่าย โดยวัดจากระดับของการพัฒนา เมื่อเปรียบเทียบกับผลงานสิ่งประดิษฐ์อย่างเดียวกัน หรือในวิทยาการเดียวกัน และพื้นความรู้ความสามารถของผู้ประดิษฐ์ในระดับเดียวกัน
- ความชาญฉลาดในการประดิษฐ์ วัสดุที่ใช้เหมาะสม ประหยัด มีความคงทนแข็งแรง ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
2. การใช้ประโยชน์
- การใช้ประโยชน์ เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมในเชิงชุมชน/สังคม ภาคบริการ การผลิต อุตสาหกรรม หรือพาณิชย์ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ตามที่กำหนดไว้ในคุณลักษณะเฉพาะของผลงานสิ่งประดิษฐ์นั้น มีระบบการทำงาน ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และ/หรือเป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง หรือสามารถนำไปพัฒนาต่อเป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ใหม่ได้ด้วย และ/หรือเป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่จะมีประโยชน์มากในอนาคต
ผลงานประดิษฐ์คิดค้นที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการฯ จะต้องร่วมจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานเพื่อให้คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาตัดสินรางวัลฯ ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี ๒๕๕๘ ระหว่างวันที่ ๒ – ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค (ฮอลล์ ๙) เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดย วช. จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามสมควร และจะมีหนังสือแจ้งให้ทราบต่อไป
ติดต่อสอบถา
- ฝ่ายส่งเสริมและสร้างคุณค่างานวิจัย กองประเมินผลและจัดการความรู้การวิจัย
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เลขที่ ๑๙๖ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๙๐๐ - โทร. ๐ ๒๕๗๙ ๒๒๘๘, ๐ ๒๕๖๑ ๒๔๔๕ ต่อ ๕๓๙ และ ๓๗๓
- โทรสาร ๐ ๒๕๗๙ ๐๔๕๕
- Email: goodidea.nrct@hotmail.com
- Website: http://www.nrct.go.th และ www.rrm-nrct.com
- Log in to post comments