^ Back to Top

บรรยาย หัวข้อ “ศิลปะ สังคม สงคราม และความเป็นเวียดนาม”

บรรยาย หัวข้อ “ศิลปะ สังคม สงคราม และความเป็นเวียดนาม”

บรรยาย หัวข้อ “ศิลปะ สังคม สงคราม และความเป็นเวียดนาม” โดย ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร และกฤติยา กาวีวงศ์ ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา 13.00 - 15.30 น. ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน : The Jim Thompson House

การบรรยายในหัวข้อ “ศิลปะ สังคม สงคราม และความเป็นเวียดนาม”
โดย ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร และกฤติยา กาวีวงศ์
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 เวลา 13.00-15.30น.
ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน

การบรรยายครั้งนี้จะดำเนินรายการเป็นภาษาไทยเท่านั้น (The program will be conducted in Thai only)

การบรรยายครั้งนี้จะแบ่งเป็นสองส่วน เรื่องของประวัติศาสตร์สังคมของเวียดนาม และศิลปะ โดยผศ. ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตรกล่าวถึงประเทศเวียดนาม ในฐานะที่เคยถูกเข้าใจว่าเป็นเพียงชื่อสงครามหากแต่สำหรับชาวเวียดนาม ยากที่จะหาข้อยุติว่าจะเรียกชื่อสงครามนี้อย่างไรการถอดรื้อให้เห็นความกำกวมของสงครามนี้ผ่านความรับรู้อันเลือนลางของชาวไทยต่อเวียดนาม เมืองเว้และการเกี่ยวข้องของไทยในสงครามดังกล่าวจนถึงการสืบย้อนกลับไปในยุคความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเมืองเว้ในปลายรัชกาลที่ 1 จะให้ความหมายแก่ศิลปะเวียดนามอย่างไรรวมถึงบทบาทของศิลปะและศิลปินร่วมสมัยในประเทศเวียดนามท่ามกลางบริบทของสังคมปัจจุบัน

กฤติยา กาวีวงศ์ บรรยายเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยของเวียดนามในช่วงเปลี่ยนผ่านจากยุคสงคราม  อเมริกัน (หรือสงครามเวียดนาม) จนถึงยุคหลังโดยเหม่ย โดยใช้กรณีศึกษาของนิทรรศการศิลปะนานาชาติ ไซ่ง่อน โอเพ่น ซิตี้ (Saigon Open City) ที่เธอได้รับเชิญเป็นภัณฑารักษัร่วมกับฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ที่เมืองโฮจิมินห์ ในปี 2006 เน้นการเตรียมงาน การลงพื้นที่ เยี่ยมสตูดิโอศิลปินเวียตนามทั้งที่ฮานอย และไซ่ง่อน รวมถึงอุปสรรค ปัญหา ของการทำงานในประเทศคอมมิวนิสต์ที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดด้านเสรีภาพในการแสดงออก ทำให้งานนิทรรศการนี้กลายเป็นโครงการที่ค้างคา (unfinished project)

กิจกรรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ The Game | Viet Nam by LE Brothersซึ่งเป็นนิทรรศการสื่อผสมและวิดีโอ โดยศิลปิน เล หง็อก ตาน (Le Ngoc Thanh) และ เล ดึก ฮาย (Le DucHai) คู่แฝดชายชาววียดนามที่สร้างสรรค์ผลงานในนาม LE Brothers ได้พิเคราะห์ถึงเวียดนามในปัจจุบัน ด้วยการหวนระลึกถึงวัยเด็กและความทรงจำในอดีต ช่วงสี่ทศวรรษหลังจากการรวมประเทศ ที่ผู้คนในยุคสมัยเดียวกันเติบโตขึ้นในประเทศที่มีรอยแผลเป็นจากสงครามและอุดมการณ์ทางความคิดที่แตกแยกเป็นเหนือและใต้ ภาพของการทำลายล้างและความตายหลอกหลอนวัยเยาว์ของพวกเขาในวัยเด็กพวกเขาเล่นบทบาทในโลกแห่งจินตนาการที่มีความสงบสุข และการเยียวยาด้วยทรัพยากรอันจำกัด เกมส์ในวัยเด็กของพวกเขาคือการเผชิญหน้าด้วยอาวุธเสมือนที่ทำจากวัสดุต่างๆ ที่หาได้ จำลองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบข้าง สองพี่น้องและเพื่อนๆ ต่อสู้เพื่อความเป็นเอกภาพในแบบฉบับของตนเอง

ทั้งหมดนี้ทำให้ The Game | Vietnam by LE Brothers ไม่เพียงสะท้อนความทรงจำส่วนตัวในอดีตของศิลปิน และยังสร้างการเล่าเรื่องที่ผู้คนในท้องถิ่นสามารถมีอารมณ์ร่วมในการตั้งคำถามและให้คำตอบในเรื่องของอัตลักษณ์ และการตระหนักรู้ทางสังคม ที่เป็นผลจากการแบ่งแยกหลังสงคราม และในท้ายที่สุด ทำให้เกิดการปรองดอง และความเป็นปึกแผ่นทางสังคม

เกี่ยวกับผู้บรรยาย
ผศ. ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร
จบปริญญาเอกทางมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ทำปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาภาษาและชาติพันธ์ศึกษา ด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองของอักษรไทดำในประเทศเวียดนาม และเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับชนชาติไทดำในเวียดนาม นอกจากนี้ยังสนใจศิลปะ คติชน ทฤษฎีและวิธีวิทยาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาปัจจุบัน ผศ.ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร เป็นรองคณบดีบัณฑิตศึกษา วิจัย และการบริการวิชาการคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กฤติยา กาวีวงศ์ เป็นผู้ก่อตั้งโปรเจ็ค 304 องค์กรศิลปะไม่แสวงหาผลกำไร เมื่อปี พ.ศ. 2539 กฤติยาจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการบริหารจัดการศิลปะและนโยบายสาขาทัศนศิลป์ จากสถาบันศิลปะชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกาเธอทำงานกับศิลปินระดับประเทศ และนานาชาติ ผลงานนิทรรศการที่เคยจัดแสดง อาทิเช่น Under Construction ณ Tokyo Opera City Gallery and Japan Foundation, Forum โตเกียว, ญี่ปุ่น (ปี พ.ศ. 2546 ) Politics of Fun, HKW, เบอร์ลิน (2548) เธอร่วมทำงานคัดสรรและจัดนิทรรศการระดับนานาชาติกับ ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ชื่อ โครงการ Saigon Open City ณ เมืองโฮจิมินห์ และล่าสุดจัดนิทรรศการ คนกินแสง เสนอผลงานวิดีโอและงานจัดวาง โดยอภิชาติพงศ์​ วีระเศรษฐกุล  ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม เชียงใหม่ (2559) ปัจจุบันกฤติยาอาศัยและทำงานอยู่ที่กรุงเทพ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลปะ และ ภัณฑารักษ์ ประจำหอศิลป์ บ้านจิม ทอมป์สัน  

ข่าวประชาสัมพันธ์ : หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน : The Jim Thompson House

Seminar date: 
11 ก.พ. 2017 13:00 to 15:30
File attachments: 

Members Online

There are currently 0 users online.