^ Back to Top

การประกวดยุวทูตดาราศาสตร์ 2554 ร้อยดาว ร้อยใจ ไทย - เกาหลี

ในปัจจุบันวิชาการด้านดาราศาสตร์นับว่าเป็นศาสตร์ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งทั้งต่อการพัฒนาประเทศและการพัฒนาวิทยาการระดับโลก เยาวชนไทยให้ความสนใจวิชาทางด้านดาราศาสตร์เพิ่มมากขึ้น โดยสังเกตได้จากความตระหนักและความตื่นตัวของคนไทยในการเกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆ เช่น พายุสุริยะ สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก ฯลฯ ส่งผลให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง รวมถึงความตื่นตัวในด้านวิชาการดาราศาสตร์ของเยาวชนไทยในการเข้าร่วมค่ายดาราศาสตร์ ค่ายฝึกวิจัยทางดาราศาสตร์ การนำเสนอผลงานวิจัยทางด้านดาราศาสตร์ในเวทีต่างๆ และได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนค่ายโอลิมปิกวิชาการ ที่นำไปสู่การแข่งขัน และได้รับรางวัลในการแข่งขันดาราศาสตร์โอลิมปิก ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทยที่หันมาให้ความสนใจ และเรียนรู้วิชาการทางด้านดาราศาสตร์อย่างจริงจัง แต่หากพิจารณาจากจำนวนเยาวชนที่สนใจ วิชาการด้านดาราศาสตร์ยังนับว่ามีจำนวนน้อย ประกอบการโครงสร้างพื้นฐาน หรือ แหล่งเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ของประเทศไทยยังอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินกิจกรรม ด้านดาราศาสตร์ของประเทศ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการนำเด็กไทยให้หันมาสนใจวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้เป็นเรื่องสนุก โดยอาศัยวิชาการด้านดาราศาสตร์เป็นสื่อ จึงได้ริเริ่มโครงการประกวดยุวฑูตดาราศาสตร์ขึ้น ตั้งแต่ปี 2553 โดยเฟ้นหาเยาวชนที่มีความสนใจด้านดาราศาสตร์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนไทย ให้มีความกล้าคิด กล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ กระตุ้นความใฝ่รู้ทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนช่วยเสริมสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ ไปสู่เด็ก เยาวชน ครู และผู้สนใจด้านดาราศาสตร์
  2. เพื่อนำเสนอสื่อการเรียนการสอนวิชาดาราศาสตร์จากการคิด ประดิษฐ์ของเยาวชนที่สามารถนำไป ใช้ประโยชน์ในการเรียนการสอนได้จริง
  3. เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในสังคม เห็นประโยชน์ และความสำคัญของวิชาดาราศาสตร์ ที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศชาติในหลากหลายมิติ
  4. เพื่อนำเสนอผลงาน แนวคิด และวิสัยทัศน์อันเป็นประโยชน์ที่หลากหลายของผู้บริหารสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน )
  5. เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนักวิชาการ เยาวชน ด้านดาราศาสตร์ประเทศไทย และสาธารณรัฐเกาหลี

คุณสมบัติผู้เข้าประกวด

  1. นักเรียน นักศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลาย ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาในภาครัฐและเอกชน และยังคงสภาพนักเรียนอยู่ ณ วันที่ตอบรับการสมัคร
  2. จะต้องไม่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศในตำแหน่ง ยุวทูตดาราศาสตร์ มาก่อน
  3. จะต้องสามารถเดินทางร่วมกับทีมงานโทรทัศน์ เพื่อไปถ่ายทำรายการโทรทัศน์และทัศนศึกษา ณ หอดูดาว สาธารณรัฐเกาหลี ในวัน เวลาที่ทีมงานเป็นผู้กำหนดได้

ขั้นตอนในการประกวด
1. จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการและประกาศรับสมัครนักเรียน เข้าร่วมประกวด ภายในเดือนเมษายน 2554

2. การประกวดรอบแรก
ให้ผู้เข้าประกวดส่งผลงานการออกแบบ แนวคิด การประดิษฐ์ “ชิ้นงานเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน” โดยส่งมาในรูปแบบคลิปวีดีโอ แสดงแนวคิดและการใช้ชิ้นงานดังกล่าวที่ตนเองคิด ประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งสามารถนำแนวคิดดังกล่าวไปผลิตเป็นชิ้นงานเพื่อใช้ในการเรียนการ สอนได้จริง ทั้งนี้ อาจเป็นชิ้นงานที่สร้าง ประดิษฐ์สำเร็จแล้ว หรือ อาจเป็นภาพร่างโครงการที่ยังไม่สร้างจริงก็ได้ แต่ต้องสามารถนำเสนอให้คณะกรรมการเข้าใจแนวคิดได้ โดยความยาวคลิปวิดีโอ ไม่เกิน 3 นาที

วิธีสมัคร
- Download ใบสมัครที่ www.narit.or.th และกรอกข้อมูลให้ครบถ้วน สมบูรณ์
- บันทึกคลิปวิดีโอความยาวไม่เกิน 3 นาที
- ส่งใบสมัคร และคลิปวิดีโอ มาที่
โครงการยุวฑูตดาราศาสตร์ ปี 2554 88/49 รามอินทรา ซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ 10220 ภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2554 (โดยถือเอาวันที่ประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ)
หรือ Scan ใบสมัคร และส่งคลิปวิดีโอทาง
Email : darasat2korea @yahoo.com
ภายในวันที่ 20 มิถุนายน 2554

3. การประกวดรอบที่ 2 เดือนมิถุนายน 2554
คณะกรรมการจะพิจารณาจากแนวคิด ที่ส่งมาทางคลิปวิดีโอ โดยคัดเลือก ผลงานที่เข้ารอบแรก จำนวน 20 คน โดยผู้เข้ารอบทั้ง 20 คนจะต้องเดินทางมานำเสนอแนวคิดของการจัดทำชิ้นงานฯ ดังกล่าวต่อหน้าคณะกรรมการ ซึ่งสามารถนำเสนอเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างสำเร็จแล้ว หรือนำเสนอเป็นแบบร่างโครงงาน ภาพประกอบ เพื่อให้คณะกรรมการเข้าใจแนวคิดและประโยชน์ในการใช้งานประกอบการเรียนการสอนได้

คณะกรรมการจะคัดเลือกจากผู้นำเสนอ 20 คน ให้เหลือผู้ผ่านสู่รอบชิงชนะเลิศ 10 คนสุดท้าย โดยผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศทั้ง 10 คน จะได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินการสร้างชิ้นงานฯ ต้นแบบ คนละ 5,000 บาท

4. การประกวดรอบที่ 3 เดือนกรกฏาคม 2554
โดยนักเรียนผู้ผ่านเข้ารอบทั้ง 10 คน จะต้องนำชิ้นงานฯ ที่จัดสร้างขึ้น ตามที่ได้นำเสนอแนวคิดกับกรรมการไว้ และได้รับทุนการสนับสนุนให้ไปจัดทำ ไปทดลองใช้ประกอบการเรียนการสอนในโรงเรียนจริง โดยทางคณะกรรมการฯ จะแจ้งกำหนดการและชื่อโรงเรียนที่จะเข้าไปสอนให้ทราบ

หลังจากนั้น ผู้ผ่านเข้ารอบทั้ง 10 คน นำความรู้ ประสบการณ์ที่ได้ กลับไปพัฒนาชิ้นงานฯ ที่ตนเองคิดประดิษฐ์ขึ้น เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์แบบในการประกวดรอบชิงชนะเลิศต่อไป

5. การประกวดรอบชิงชนะเลิศ และพิธีมอบรางวัล เดือนสิงหาคม 2554
ในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2554 ณ กรุงเทพฯ ผู้ผ่านเข้ารอบ 10 คนสุดท้าย จะเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ โดยนำผลงานการผลิตชิ้นงานฯ ที่ได้รับการพัฒนาจนสมบูรณ์ และสามารถใช้ประกอบการเรียนการสอนได้จริง นำเสนอบนเวที คนละไม่เกิน 5 นาที พร้อมตอบคำถามโดยมีคณะ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้คะแนน หลังจากรวบคะแนนจากคณะกรรมการ จะมีพิธีมอบรางวัลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

การทัศนศึกษาและถ่ายทำรายการโทรทัศน์
นักเรียนผู้ชนะเลิศ จะได้เดินทางไปทัศนศึกษาหน่วยงานทางดาราศาสตร์ ณ สาธารณรัฐเกาหลี เช่น Korea Astronomy and Space Science Instuitute (KASI) ณ เมือง Daejeon สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นเมืองด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ โดยจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้าของ วงการดาราศาสตร์ในเกาหลีใต้ ที่ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสาม ผู้นำทางดาราศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก นอกเหนือจากจีน และญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลีมีการศึกษา ค้นคว้า วิจัยด้านดาราศาสตร์ ด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือทางดาราศาสตร์ที่มีมาตรฐานระดับโลก เช่น กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 เมตร กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 14 เมตร ห้องปฏิบัติการวิจัยเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ (Solar research Laboratory) กล้องโทรทรรศน์ สำหรับสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์ (Solar Telescope)

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเข้าเยี่ยมชมการทำงานของนักดาราศาสตร์ ณ หอดูดาว Bohyunsan ที่ติดตั้ง กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 เมตร หอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุ Taeduk ที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาด 14 เมตร ห้องควบคุมการทำงานระยะไกลของกล้องโทรทรรศน์ ณ หอดูดาวเมานต์เลมมอน มหาวิทยาลัยอริโซนา สหรัฐอเมริกา รวมทั้งเยี่ยมชม International Center for Astrophysics ท้องฟ้าจำลอง อุทยานวิทยาศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงของสาธารณรัฐเกาหลี ตลอดจนตามรอยประวัติศาสตร์ด้านดาราศาสตร์ของสาธารณรัฐเกาหลี ด้วยการเยี่ยมชมหอดูดาวชอมซองแต ซึ่งเป็นหอดูดาวแห่งแรกของสาธารณรัฐเกาหลีที่สร้างใน สมัยมหาราชินีซอนต็อก โดยยุวฑูตดาราศาสตร์ จะทำหน้าที่เป็นพิธีกรนักข่าวเยาวชน ถ่ายทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ต่างๆ และองค์ความรู้ที่ได้รับด้านดาราศาสตร์ไปยังเด็ก เยาวชนผู้สนใจทั่วประเทศผ่านรายการโทรทัศน์

เผยแพร่ผ่านสื่อโทรทัศน์
นำผลงานการรายงานข่าวกิจกรรมการทัศนศึกษาหน่วยงานทางดาราศาสตร์ ณ สาธารณรัฐเกาหลี ออกอากาศผ่านรายการโทรทัศน์ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 จำนวน 10 ตอน และ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 จำนวน 10 ตอน

กำหนดการ
เมษายน 2554 แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ
20 มิถุนายน 2554 หมดเขตส่งคลิป เข้าร่วมการประกวด
มิถุนายน 2554 การประกวดรอบที่ 2 คัดจากผู้มานำเสนอแนวคิด 20 คน ให้เหลือผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศ จำนวน 10 คนสุดท้าย (ทุนประดิษฐ์ชิ้นงานฯ คนละ 5,000 บาท)
กรกฏาคม 2554 การประกวดรอบที่ 3 การสอนในโรงเรียน

สำหรับผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศ 10 คน
สิงหาคม 2554 การประกวดรอบชิงชนะเลิศในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

แข่งขันบนเวที พิธีประกาศและมอบรางวัล
ภายในเดือนกันยายน 2554 เดินทางไปถ่ายทำและทัศนศึกษา ณ หอดูดาว สาธารณรัฐเกาหลี
สิงหาคม – พฤศจิกายน 2554 ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 และ ช่อง 11
**วัน-เวลาดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลง และจะแจ้งให้ทราบในภายหลัง**

เกณฑ์ในการพิจารณา ตัดสิน

  • แนวคิดสร้างสรรค์ในการสร้างชิ้นงาน 40 คะแนน
  • ประโยชน์และการใช้งานได้จริง 20 คะแนน
  • ความรู้พื้นฐาน การตอบคำถามบนเวที 20 คะแนน
  • บุคลิกภาพ การสื่อสาร 20 คะแนน

กรรมการตัดสิน

รอบคัดเลือก ประกอบด้วย

  • ผู้แทนสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
  • นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์
  • ผู้แทนสมาคมศูนย์ข่าวเยาวชนไทย
  • ผู้แทนครู หรือ ผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ

รอบชิงชนะเลิศ ประกอบด้วย

  • ผู้บริหาร สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
  • นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์
  • ผู้แทนสมาคมศูนย์ข่าวเยาวชนไทย ผู้มีประสบการณ์ด้านการสื่อสาร
  • ผู้แทนครู นักวิชาการ หรือผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ

**การตัดสินของคณะกรรมการในการประกวดทุกขั้นตอนถือให้เป็นที่สิ้นสุด**

รางวัลสำหรับการประกวด ประกอบด้วย

รางวัลชนะเลิศ ทุนการศึกษา 10,000 บาท
ทุนเพื่อการทัศนศึกษา หน่วยงานทางดาราศาสตร์ ณ สาธารณรัฐเกาหลี
โล่รางวัล และประกาศนียบัตรจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

รองชนะเลิศอันดับ 1 ทุนการศึกษา 8,000 บาท
ประกาศนียบัตรจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

รองชนะเลิศอันดับ 2 ทุนการศึกษา 5,000 บาท
ประกาศนียบัตรจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

รางวัลชมเชย 7 รางวัล ทุนการศึกษา 2,000 บาท
ประกาศนียบัตรจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ติดตามรายละเอียดโครงการได้จาก www.narit.or.th
ติดต่อประสานงาน E-mail : darasat2korea@yahoo.com
โทร. 086-789-1689
เผยแพร่ : http://contestwar.com

มูลค่าเงินรางวัลรวม: 
37,000 Baht
File attachments: 

Members Online

There are currently 0 users online.