ประกวดนักเขียนวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ "Young Science Writer 2014"
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ขอเชิญนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.๔ – ม.๖) ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดนักเขียนวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ประจำปี ๒๕๕๗ "Young Science Writer 2014" ในหัวข้อ “เทคโนโลยีอนาคตเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” (Future Technology for Climate Change) ชิงรางวัลมูลค่ารวม ๔๕,๐๐๐ บาท พร้อมโล่รางวัล
หลักการและเหตุผล
วิทยาศาสตร์มีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น เรื่องสุขภาพ อาหารการกิน การใช้ชีวิต สภาพอากาศ ภูมิประเทศ และสภาวะแวดล้อม ล้วนแล้วแต่เป็นวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น นอกจากนี้วิทยาศาสตร์ยังเป็นรากฐานสู่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยการดำรงชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น การได้รับข้อมูลข่าวสารและเข้าใจวิทยาศาสตร์ทำให้เราเข้าใจตนเองและสภาวะแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อันนำไปสู่การดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพและการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การให้ความรู้และสร้างความเข้าใจวิทยาศาสตร์แก่สังคมจึงนับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ขณะที่เยาวชนอันเป็นอนาคตของชาติมีความต้องการเรียนรู้และแสดงออก แต่ยังขาดประสบการณ์และช่องทางในการฝึกฝนตนเอง การสร้างโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการสื่อสารวิทยาศาสตร์จึงนับเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง
องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มีภารกิจหลักในการเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ การจัดกิจกรรม การวิจัยพัฒนา ที่มุ่งสร้างความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ ทักษะกระบวนการ และจิตวิทยาศาสตร์แก่สังคมไทย
เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์โดยใช้การเขียนเป็นเครื่องมือในการสื่อสารวิทยาศาสตร์สู่สังคม เพื่อให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันก็เป็นการปลูกฝังให้เยาวชนมีทักษะกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์คือการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล รู้จักเรียบเรียง วิเคราะห์ และกลั่นกรองข้อมูลเพื่อเขียนบทความและจัดทำวารสารเพื่อให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ จึงจัดทำโครงการนักเขียนวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ประจำปี ๒๕๕๗ (Young Science Writer 2014)
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อให้เกิดการสื่อสารวิทยาศาสตร์โดยใช้งานเขียน
๒. เพื่อให้เยาวชนได้รับความรู้พื้นฐานสำหรับการเขียนและผลิตสื่อเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์
๓. เพื่อให้เยาวชนได้ฝึกฝนและได้รับประสบการณ์ด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์
๔. สร้างเครือข่ายเยาวชนนักเขียนวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์
เป้าหมาย
๑. มีเยาวชนส่งผลงานเข้าร่วมคัดเลือกไม่น้อยกว่า ๒๐๐ คน
๒. มีเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรมค่ายนักเขียนวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ จำนวน ๕๐ – ๖๐ คน
๓. เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมค่ายนักเขียนวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ได้รับความรู้และได้ฝึกฝนทักษะด้านการเขียนบทความและการจัดทำวารสารทางวิทยาศาสตร์จากผู้เชี่ยวชาญ
กลุ่มเป้าหมาย
นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.๔-ม.๖) ไม่จำกัดสาขาวิชา จากทั่วประเทศ
คุณสมบัติผู้สมัคร
๑. เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.๔ – ม.๖)
๒. ส่งผลงานผ่านทางโรงเรียนที่สังกัด
วิธีการสมัคร
๑. โรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถส่งผลงานวารสารวิทยาศาสตร์ในหัวข้อ “เทคโนโลยีอนาคตเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” (Future Technology for Climate Change)” เป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ บนเนื้อที่ ๖ หน้ากระดาษ A4 (รายละเอียดดังด้านล่าง) ภายในวันจันทร์ที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๗ โดยส่งผลงานมายัง องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ที่อยู่ เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ๑๒๑๒๐
๒. สามารถโหลดใบสมัครหรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nsm.or.th
หมายเหตุ
๑. โรงเรียนสามารถส่งผลงานเข้าร่วมประกวดได้โรงเรียนละ
๒. ส่งผลงานวารสารวิทยาศาสตร์ในหัวข้อ “เทคโนโลยีอนาคตเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” ไม่เกิน ๓ ทีม สมาชิกทีมละไม่เกิน ๓ คน (Future Technology for Climate Change)
การคัดเลือกรอบชิงชนะเลิศ
ผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกจำนวน ๒๐ – ๒๕ ทีม (ไม่เกิน ๖๐ คน) จะต้องมาเข้าร่วมกิจกรรมค่ายรอบสุดท้ายที่ อพวช. ในระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๗ โดย อพวช. จะจัดกิจกรรมเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้ารอบได้มีการฝึกฝนทักษะด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ผ่านงานเขียนจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อนำไปพัฒนาผลงานของตนเองในการคัดเลือกรอบชิงชนะเลิศ โดยเยาวชนผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนจะได้ใบประกาศนียบัตร “นักเขียนวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์” โดยมีรางวัล ดังนี้
- รางวัลที่ ๑ เงินรางวัลจำนวน ๒๕,๐๐๐ บาท พร้อมโล่รางวัล
- รางวัลที่ ๒ เงินรางวัลจำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท พร้อมโล่รางวัล
- รางวัลที่ ๓ เงินรางวัลจำนวน ๕,๐๐๐ บาท พร้อมโล่รางวัล
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
๐๒ ๕๗๗ ๙๙๙๙ ต่อ ๑๔๗๔ (วรภร)
- Log in to post comments