การประกวดงานเขียนระดับชั้น มัธยมศึกษาตอนปลาย ประเภท เรื่องสั้น เรียงความ และบทกวี โครงการธรรมวรรณศิลป์ ประจำปี 2553 สถาบัน ยุวโพธิชน มูลนิธิสัมมาชีพ
โครงการธรรมวรรณศิลป์ ประจำปี 2553 “สร้างโลกใหม่ด้วยมือเรา”
ที่มาและความสำคัญ
สถาบันยุวโพธิชนได้เคยดำเนินงานกิจกรรมประกวดงานเขียนธรรมะเชิงวรรณศิลป์ของเยาวชนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมาแล้วจำนวน 3 ครั้ง โดย 3 ครั้งดังกล่าวสถาบันยุวโพธิชนยังมีสถานะเป็น “โครงการยุวโพธิชน” ภายใต้มูลนิธิเด็ก มีหัวข้อการประกวดในครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2549 คือ “พุทธศานาในชีวิตข้าพเจ้า” ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2550 คือ “พุทธศานาในบ้านเกิดของฉัน” และครั้งที่ 3 เมื่อปี พ.ศ. 2551 คือ “ความรัก วัยรุ่น ธรรมะ” มีผลงานเข้าร่วมประกวดรวม 1854 ผลงาน และได้รางวัลทั้งสิ้น 120 ผลงาน
จากการประกวดทำให้ได้งานเขียนจากเยาวชนที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์และการมีวิจารณญาณ มีการใช้ภาษาที่ไพเราะและสะเทือนอารมณ์โดยเฉพาะร้อยกรองและเรื่องสั้น ทำให้โครงการได้มีโอกาสคัดเลือกเยาวชนที่มีแววความเป็นผู้นำในทางธรรมะได้ ซึ่งรายงานการดำเนินการประกวดใน 3 ครั้งที่ผ่านมาคือปี พ.ศ. 2550 และ ปี พ.ศ. 2551 พบว่า เยาวชนที่ได้รับรางวัลแล้วเข้าร่วมค่ายภาคฤดูร้อนและได้พัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำชาวพุทธรุ่นใหม่ ซึ่งยังคงอยู่ในเครือข่ายของสถาบันจนถึงทุกวันนี้
ในแง่เยาวชนเอง งานหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าเรามีเยาวชนที่มีแววทางด้านสติปัญญาและมีฉันทะในทางธรรมะซ่อนอยู่ในซอกมุมต่าง ๆ ของสังคมไทย ทั้งที่ห่างไกลทุรกันดารอย่างโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ชาวเขา จนถึงโรงเรียนที่มีชื่อเสียงใจกลางกรุงอย่างโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ถ้าเยาวชนเหล่านี้ได้รับการหนุนเสริมอย่างต่อเนื่อง เขาและเธอเหล่านั้นอาจจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถสร้างสรรค์งานด้านวรรณศิลป์ที่ทรงคุณค่าทางธรรมะให้กับสังคมไทยในอนาคตได้ เราอาจจะมีนักเขียนเรื่องสั้นและ นวนิยาย สารคดี และกวีนิพนธ์ ที่สอดแทรกคุณธรรมในอนาคต นี่ย่อมมีผลทางด้านสร้างสรรค์และจรรโลงคุณธรรมในสังคมไทยอย่างหาค่ามิได้อย่างแน่นอน
นอกจากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนแล้ว ปรากฏว่าครูบาอาจารย์ที่สอนและรักภาษาไทยและพุทธศานาได้รับกำลังใจ รู้สึกว่าวิชาที่ตนเองสอนมีคุณค่าในสายตาของสังคมมากขึ้น ในขณะที่กระแสสังคมและผู้บริหารโรงเรียนส่วนมากให้ความสำคัญน้อยทั้ง ๆ ที่สองวิชานี้คือแก่นสาระของวัฒนธรรมไทย ถ้ากิจกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินอย่างต่อเนื่อง น่าจะก่อกระแสให้สองวิชานี้มีความสำคัญมากขึ้นในแวดวงการศึกษาของไทย และเป็นหนทางนำแก่นสาระของวัฒนธรรมไทยกลับมาหนทางหนึ่งด้วย
ด้วยการแลเห็นคุณประโยชน์จากโครงการทั้ง 3 ปีที่ผ่านมา สถาบันยุวโพธิชนจึงดำเนินโครงการ “ธรรมวรรณศิลป์ ประจำปี 2553” ขึ้น เพื่อส่งเสริมเยาชนที่มีความสามารถและใจรักด้านการเขียน แล้วสามารถเชื่อมโยงธรรมะเข้ากับชีวิตของตนและสังคมได้ โดยการประกวดปีในนี้ได้กำหนดหัวข้อคือ “ สร้างโลกใหม่ด้วยมือเรา” แบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่ เรียงความ บทกวี และเรื่องสั้น แล้วได้ลดการแข่งขันผ่านการกำหนดรางวัลในแต่ละประเภทให้มีเพียงระดับเดียว คือรางวัล “ธรรมวรรณศิลป์” ประเภทละ 10 รางวัล รวมทั้งสิ้น 30 รางวัล โดยเมื่อการพิจารณาของคณะกรรมการเป็นอันสิ้นสุดแล้วก็จะมีการมอบรางวัลในงาน ”ธรรมวรรณศิลป์ ประจำปี 2553” ในค่ายเรียนรู้ “ธรรมวรรณกร” 3 วันในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งนอกจากจะเป็นงานเพื่อการประชาสัมพันธ์โครงการ ยังเป็นการนำเยาวชนที่มีความสามารถมาร่วมกิจกรรมกันในเบื้องต้นคือการถอดบทเรียน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้มีการคิดใคร่ครวญและทบทวนการเขียนของตนซึ่งจะนำประโยชน์ในด้านการพัฒนาศักยภาพ การเข้าใจตนเอง และสังคมต่อไป รวมทั้งการจัดโครงการประกวดและงานธรรมวรรณศิลป์นี้จะเป็นการกระตุ้นให้สังคมตระหนักในคุณค่าของการนำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนถึงความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีงาม
วัตถุประสงค์
1. เพื่อให้เยาวชนได้แสดงออกตามศักยภาพด้านวรรณศิลป์ของตัวเองอย่างสร้างสรรค์เชิงคุณธรรม
2. เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้ใคร่ครวญถึงคุณค่าของศาสนธรรมในชีวิตจริงของตน
3. เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีลักษณะของความเป็นผู้นำด้านสติปัญญาความคิดความอ่านเข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องกับสถาบันยุวโพธิชน
4. เพื่อกระตุ้นให้เกิดงานเขียนที่มีคุณลักษณะทางธรรมวรรณศิลป์จากเยาวชนขึ้นในสังคม
5. เพื่อเกิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และความสามารถในกลุ่มเยาวชนที่มีความสามารถหรือใจรักในการเขียน
กลุ่มเป้าหมาย
นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าทั่วประเทศไทย
ตัวชี้วัด
ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ
ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกมีคุณภาพน่าพึงพอใจแสดงถึงการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดได้อย่างสร้างสรรค์ สามารถใช้ภาษาอย่างไพเราะและสะเทือนอารมณ์โดยเฉพาะบทกวีและเรื่องสั้น อีกทั้งสามารถสื่อความหมายได้ดีสอดคล้องกับหัวข้อที่กำหนด มีความแนบเนียนเชิงเทคนิคหรือวรรณศิลป์ ผลงานที่ส่งเข้ามาแสดงถึงการใคร่ครวญถึงความสำคัญของศาสนธรรมในชีวิตจริงของตน
ระยะเวลา
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ – วันที่ 1 ธันวาคม 2553
วันสุดท้ายของการส่งผลงาน วันที่ 15 กันยายน 2553
ประกาศผลรางวัลภายในเดือน ตุลาคม
พิธีมอบรางวัลและจัดค่าย “ธรรมวรรณกร” ภายในเดือนตุลาคม
สถานที่มอบรางวัล
งานธรรมวรรณศิลป์ประจำปี 2553
ขอบเขตของงาน
ผลงานทั้ง 3 ประเภทคือ บทกวี เรียงความ และเรื่องสั้น มีความเกี่ยวข้องกับหัวข้อ “สร้างโลกใหม่ด้วยมือเรา” และตรงกับเกณฑ์การตัดสินผลงานที่ตั้งไว้
เกณฑ์การตัดสินผลงานโดยรวม
1. ใช้ความคิดอย่างมีวิจารณญาณ กล่าวคือ สามารถเสนอประเด็นหลักหรือประเด็นสำคัญได้อย่างแม่นยำ ชัดเจน ลึกซึ้ง และเป็นระบบ สามารถเชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องถึงกันได้อย่างมีความหมาย สามารถมองเรื่องราวเดียวจากหลายแง่มุม และเสนอความเห็นได้อย่างเที่ยงธรรม
2. มีความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง มีมุมมองแปลกใหม่ มีจิตนาการ เป็นผลงานที่ไม่ลอกเลียน คัดลอก หรือตัดต่อดัดแปลงจากผลงานผู้อื่น หากมีการฟ้องร้องเกี่ยวกับผลงาน ผู้ที่ส่งเข้าประกวดจะต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว
3. ใช้ภาษาได้อย่างเหมาะสม สื่อความหมายได้ดี มีความแนบเนียนเชิงเทคนิคหรือวรรณศิลป์
4. แสดงความเพียงพยายามที่จะแสดงผลงานออกมาอย่างมีคุณภาพ มีข้อมูลประกอบพอสมควร
5. มีความจริงใจในผลงาน เป็นผลงานที่สื่อออกมาจากหัวใจ จากความรู้สึกด้วยความเชื่อมั่นในสิ่งที่แสดงอย่างแท้จริง
6. ผลงานที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่เคยเผยแพร่ผ่านสื่อทุกประเภทมาก่อน
7. ผลงานเขียนสามารถเขียนด้วยลายมือตัวบรรจง พิมพ์ดีด หรือพิมพ์ด้วยคอมพิวเตอร์โดยมีตัวอักษรขนาด 16 พ้อยท์ พิมพ์ลงกระดาษ A4 สีขาว
8. สามารถตั้งชื่อเรื่องของผลงานขึ้นใหม่ตามความเหมาะสม
9. ส่งผลงานพร้อมชื่อที่อยู่ อีเมล์ และเบอร์โทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ พร้อมทั้งชื่อที่อยู่ของสถานศึกษา
หลักเกณฑ์ในการส่งผลงานในแต่ละประเภท มีดังนี้
1. บทกวี
- เป็นงานเขียนที่มีความไพเราะ มีความยาวพอสมควรกับเนื้อหา สามารถใช้กลวิธีเขียนแบบร้อยกรองได้ทุกรูปแบบ เช่น กาพย์ กลอน โครง ฉันท์ และบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ หรือผสมผสานหลายรูปแบบ
- เขียนจากหัวใจและสร้างอารมณ์สะเทือนแก่ผู้อ่านได้
2. เรียงความ
- แสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างมีวิจารณญาณ์ แม้จะมีการค้นคว้าข้อมูลจากหนังสือ สื่อต่าง ๆ และจากการสัมภาษณ์ก็สามารถเชื่อมโยงเข้าหาประสบการณ์จริงของตนได้
- ความยาวไม่เกิน 4 หน้ากระดาษ A4 หรือประมาณ 3000 – 4000 คำ
3. เรื่องสั้น
- ไม่จำกัดรูปแบบหรือกลวิธีการนำเสนอ
- สามารถสร้างอารมณ์สะเทือนใจแก่ผู้อ่านได้
- ใช้ภาษาและลีลาเป็นของตัวเองและเหมาะสมกับเรื่อง
- แสดงถึงจินตนาการอย่างสมจริง อ่านแล้วเห็นภาพชัดเจน
- จำกัดความยาว 2 หน้าถึง 5 หน้ากระดาษ A4
การมอบรางวัล
เนื่องจากโครงการส่งเสริมเรื่องการแสดงออกทางศักยภาพของเยาวชนมากกว่าส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน จึงจัดรางวัลให้กับผู้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ ดังนี้
1. ผลงานเขียนประเภทบทกวี (ยุวกวีนิพนธ์) จำนวน 10 รางวัล เป็นทุนการศึกษา ทุนละ 3000 บาท พร้อมเกียติบัตร และสิทธิเข้าค่ายเรียนรู้กับสถาบันยุวโพธิชน
2. ผลงานเขียนประเภทเรียงความ จำนวน 10 รางวัล เป็นทุนการศึกษา ทุนละ 3000 บาท พร้อมเกียติบัตร และสิทธิเข้าค่ายเรียนรู้กับสถาบันยุวโพธิชน
3. ผลงานเขียนประเภทเรื่องสั้น จำนวน 10 รางวัล เป็นทุนการศึกษา ทุนละ 3000 บาท พร้อมเกียติบัตร และสิทธิเข้าค่ายเรียนรู้กับสถาบันยุวโพธิชน
ผู้ที่ได้รับรางวัลจะต้องมาร่วมเรียนรู้ในค่าย “ธรรมวรรณกร” เป็นเวลา 3 วัน ถ้าผู้ได้รับรางวัลมิได้เข้าร่วม ทางโครงการจะถือว่าสละสิทธิ์
ส่งผลงานได้ที่
โครงการธรรมวรรณศิลป์ 573/8 ซ.รามคำแหง 39 (ศรีวรา) ถ.ลาดพร้าว แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพ ฯ 10310
หรือส่งทางอีเมล์ได้ที่ youngawakening@gmail.com
ปิดรับผลงานวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553 โดยถือวันประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ
ติดต่อสอบถามได้ที่
คุณอนุรักษ์ 02-9366613 หรือ 083-1339968
- Log in to post comments
Comments
http://www.facebook.com/young
http://www.facebook.com/youngawakening