ประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลครั้งที่ 3 "PTTEP Teenergy ปีที่ 9 : The 3rd Young Ocean for Life Innovation Challenge"
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ขอเชิญนิสิต นักศึกษา ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลครั้งที่ 3 "PTTEP Teenergy ปีที่ 9 : The 3rd Young Ocean for Life Innovation Challenge" ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 900,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และใบประกาศนียบัตร
วัตถุประสงค์
- เพื่อสร้างและพัฒนาเยาวชนให้เป็นนักประดิษฐ์ที่มีคุณภาพและศักยภาพ
- เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล
- เพื่อให้นิสิต นักศึกษา มีเวทีนำเสนอผลงานนวัตกรรมที่มีศักยภาพให้สามารถเผยแพร่สู่สาธารณชน
- เพื่อส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษา ได้มีเครือข่ายด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและการพัฒนานวัตกรรม
หัวข้อการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลครั้งที่ 3 (The 3rd Young Ocean for Life Innovation Challenge) แบ่งเป็น 3 หัวข้อการประกวด ได้แก่
- Protect: การปกป้องท้องทะเล จากภัยคุกคามต่าง ๆ โดยเฉพาะวิกฤติระดับโลกสามด้านนั่นคือ มลภาวะจากขยะและน้ำเสีย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
- Preserve: การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะระบบนิเวศชายฝั่งที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ให้สามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน
- Provide: การสร้างโอกาสเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลรอบอ่าวไทยมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามรูปแบบเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) และ BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็น โมเดลเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน
คุณสมบัติของผู้ส่งผลงานเข้าประกวด
- เป็นบุคคลสัญชาติไทย และมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย
- มีสถานภาพเป็นนิสิต นักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ถึง ระดับปริญญาตรี ในสถาบันการศึกษาในประเทศไทย
- อายุไม่เกิน 25 ปี
- ผู้ที่เคยสมัครการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล PTTEP Teenergy สามารถส่งผลงานได้
ขั้นตอนการส่งผลงานเข้าประกวด
- สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ Facebook Fanpage : PTTEP CSR
- สมัครเป็นทีม ทีมละไม่ต่ำกว่า 3 คน แต่ไม่เกิน 5 คน โดยให้มีอาจารย์ที่ปรึกษาได้ทีมละไม่เกิน 2 คน
- เลือกส่งผลงานนวัตกรรม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและแก้ปัญหาประเภทใดประเภทหนึ่ง ดังนี้ (เลือกเพียง 1 หัวข้อ และส่งผลงานได้เพียง 1 ผลงานเท่านั้น)
- กรอกแบบฟอร์มรับสมัครให้ครบถ้วน พร้อมทั้งส่งผลงานในรูปแบบ Customized Program ที่กำหนดไว้ เท่านั้น
- ส่งสำเนาบัตรประชาชนและบัตรประจำตัวนิสิต นักศึกษา ที่ออกโดยสถาบันการศึกษาที่ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดกำลังศึกษาอยู่
- จัดทำโครงร่างผลงาน (Proposal) โดยอัปโหลดไฟล์ในรูปแบบ .pdf ความยาวไม่เกิน 10 หน้าขนาด A4 รวมปก ขนาดไฟล์ไม่เกิน 20 MB เท่านั้น
- ชนิดและขนาดตัวอักษร ให้ใช้ตัวอักษร Cordia New ขนาด 16 pt. การจัดหน้ากระดาษ ใช้กระดาษขนาด A4 (21 x 29.7 เซนติเมตร) และพิมพ์โดยมีระยะห่างจาก ขอบกระดาษด้านซ้าย 2.5 เซนติเมตร ด้านขวา 2.5 เซนติเมตร ด้านบน 2.5 เซนติเมตร และด้านล่าง 2.5 เซนติเมตร
- ส่งรูปภาพประกอบผลงานนวัตกรรมโดยอัปโหลดไฟล์ในรูปแบบ .jpeg ไม่เกิน 5 รูป ขนาดไฟล์รวม ไม่เกิน 10 MB เท่านั้น
- ส่ง VDO Clip การนำเสนอผลงานความยาวไม่เกิน 3 นาที โดยอัปโหลด VDO Clip ลงบน YouTube และคัดลอก Link VDO จาก YouTube ลงในแบบฟอร์มรับสมัคร
หัวข้อในโครงร่างผลงาน (Proposal)
- ที่มาและแนวคิดของผลงานนวัตกรรม (แรงจูงใจ แรงบันดาลใจหรือแนวคิดในการสร้างสรรค์)
- วัตถุประสงค์ (จัดทำโครงการเพื่อประโยชน์ หรือใช้แก้ไขปัญหาอะไร และสามารถวัดผลลัพธ์ได้อย่างไร)
- วิธีการดำเนินงาน (อธิบายถึงขั้นตอน และวิธีการดำเนินโครงการ)
- การนำไปใช้ประโยชน์ (อธิบายการนำแนวคิดนี้ไปใช้ประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด ใช้ได้อย่างแพร่หลายในหน่วยงานอื่นได้ด้วยหรือไม่ หรือใช้ได้เฉพาะในวงจำกัด บางหน่วยงานเท่านั้น)
- แบบร่างโมเดลผลงานพร้อมลงสี โดยสามารถใช้การวาดด้วยมือ หรือใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ พร้อมอธิบายการใช้งานอย่างครบถ้วน
- งบประมาณในการผลิตผลงานที่ส่งเข้าประกวด (ประมาณการงบประมาณในการผลิตผลงานต่อชิ้น)
- ผลที่คาดว่าจะได้รับ (คาดว่าผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะสร้างประโยชน์อย่างไรบ้าง นำเสนอความคุ้มค่าของงบประมาณที่ใช้ เทียบกับ ผลที่คาดว่าจะได้รับ และคำนวณผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม Life Cycle Assessment)
- ให้อ้างอิงงานศึกษา หรืองานวิจัย อย่างน้อย 3 ฉบับ ที่เป็นผลงานภายในประเทศ และ/หรือ ต่างประเทศ
หลักเกณฑ์และเงื่อนไข
- ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดต้องกรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มรับสมัครและส่งผลงานประกวดให้ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนวัตกรรมที่ส่งประกวดที่ผ่านมาได้จากเอกสารรายละเอียดผลงานนวัตกรรมฯ โดยผลงานที่ส่งเข้าประกวดไม่ควรซ้ำซ้อนกับผลงานที่เคยมีการส่งประกวดแล้ว หรือมีลักษณะโดดเด่นต่อยอดจากผลงานก่อนหน้านี้อย่างมีนัยสำคัญ
- ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดต้องกรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มรับสมัครและส่งผลงานประกวดให้ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยท่านสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการให้ข้อมูลส่วนบุคคลของท่านได้จาก “เอกสารแจ้งการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับโครงการประกวดนวัตกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล” (ดาวน์โหลดได้จากช่องดาวน์โหลดเอกสาร Privacy Notice)
- ปตท.สผ. ขอสงวนสิทธิ์ในการจัดกลุ่มผลงานที่ส่งเข้าประกวดให้ตรงตามหัวข้อที่ ปตท.สผ. กำหนด
- ผลงานที่ส่งเข้าประกวดไม่ว่าส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมดต้องไม่สื่อความหมาย และไม่มีลักษณะที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นการดูหมิ่น เสียดสี หรือก่อให้เกิดความแตกแยกทางสังคม ไม่มีนัยทางการเมือง ไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
- กรรมสิทธิ์ และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับผลงานที่ส่งเข้าประกวดเป็นของผู้ส่งผลงานเข้าประกวด
- เฉพาะผลงานที่ส่งเข้าประกวดซึ่งได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลทั้ง 15 ผลงาน ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดขอให้ความตกลง ดังต่อไปนี้
- ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดยินยอมให้ ปตท.สผ. จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ผลงานที่ส่งเข้าประกวดต่อสาธารณชน ไม่ว่าจะในรูปแบบเอกสารฯ สื่อสิ่งพิมพ์ทุกประเภท สื่อดิจิทัล หรือสื่อรูปแบบอื่น ๆ ไม่ว่าในเวลาใด ๆ เพื่อการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือเพื่อการใด ๆ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ปตท.สผ. มีดุลพินิจแต่เพียงผู้เดียวว่าจะแสดงชื่อผู้ส่งผลงานเข้าประกวดในการเผยแพร่หรือประชาสัมพันธ์ โดยผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจะไม่โต้แย้งหรือเรียกร้องสิทธิใด ๆ จากการใช้ดุลพินิจดังกล่าว
- ภายในระยะเวลา 1 ปี หลังเสร็จสิ้นการประกวด ปตท.สผ. อาจทำความตกลงร่วมกับผู้ส่งผลงานเข้าประกวดเพื่อพัฒนาผลงานที่ส่งเข้าประกวดร่วมกัน หรือทำความตกลงกับผู้ส่งผลงาน เข้าประกวดเพื่อนำผลงานที่ส่งเข้าประกวดดังกล่าวไปวิจัยหรือพัฒนาต่อแต่เพียงผู้เดียว
- ผู้ส่งผลงานเข้าประกวด ยินยอมให้ ปตท.สผ. ใช้หรือแสดง ชื่อ - นามสกุล ของผู้ส่งผลงาน เข้าประกวด และชื่อผลงานที่ส่งเข้าประกวด เพื่อการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือเพื่อการใด ๆ ตามที่ ปตท.สผ. เห็นว่าเหมาะสม
- หากผลงานที่ส่งเข้าประกวดเคยได้รับรางวัลจากหน่วยงานหรือองค์กรอื่นมาแล้ว ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจะต้องระบุในแบบฟอร์มรับสมัครให้ชัดเจน
- ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดต้องไม่นำผลงานของผู้อื่นมานำเสนอเป็นผลงานของตนเอง รวมทั้งต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลอื่น หรือกระทำการใด ๆ อันเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นจากการที่ผู้ส่งผลงานเข้าประกวด กระทำผิดกฎหมายหรือละเมิด สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลอื่น ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจะต้องรับผิดแต่เพียงผู้เดียวในการกระทำผิดกฎหมายหรือความเสียหายต่อบุคคลภายนอกดังกล่าว และหากปตท.สผ. ได้รับความเสียหายไม่ว่าในทางใด ๆ อันเนื่องมาจากกระทำผิดกฎหมายหรือการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดตกลงรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ ปตท.สผ.เต็มจำนวน
- คณะกรรมการตัดสินมีสิทธิกำหนดวิธีการตัดสิน และผลการตัดสิน หรือคำชี้ขาดของคณะกรรมการตัดสินในทุกกรณี ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจะอุทธรณ์ หรือโต้แย้ง มิได้ และหากพบหลักฐานว่าผู้ส่งผลงานเข้าประกวดขาดคุณสมบัติ หรือผลงานที่ส่งเข้าประกวด ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเข้าร่วมประกวดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แม้ภายหลังที่มีการประกาศผลการตัดสินแล้วก็ตาม คณะกรรมการมีสิทธิพิจารณาเพิกถอนผลการตัดสินได้ทันที และเรียกรางวัลที่ผู้ส่ง ผลงานเข้าประกวดได้รับไปแล้วทั้งหมดคืน และ ปตท.สผ. ขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ส่งผลงานเข้าประกวดต่อไป
- ผู้ส่งผลงานเข้าประกวด ยินยอมให้ ปตท.สผ. ใช้หรือแสดงชื่อผลงาน ชื่อทีม และข้อมูลผลงานไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือโดยย่อ ของทุกผลงานเพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิง หรือเผยแพร่ ตามที่ ปตท.สผ. เห็นสมควร
- ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดรายใดกระทำการฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ วิธีการส่งผลงานเข้าประกวด หรือเงื่อนไขการเข้าร่วมประกวด คณะกรรมการตัดสินมีสิทธิพิจารณาตัดสิทธิการส่งผลงานเข้าประกวดได้ทันที
- ในกรณีที่ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดได้รับเงินรางวัลมูลค่าตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดยินยอมให้ ปตท.สผ. หักชำระภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5 ตามกฎหมาย
- เงื่อนไขอื่น ๆ นอกเหนือจากข้อกำหนดข้างต้น ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการตัดสินผลงาน
- ปตท.สผ. ขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขใด ๆ โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า
กำหนดการการรับสมัคร และการประกวด
- รับสมัครและส่งผลงาน : 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง 31 มกราคม 2567
- กิจกรรมเสวนาแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรม ภายใต้โครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 9 : 29 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.00 - 16.00 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- ประกาศผลรอบคัดเลือก 15 ทีม (3 หัวข้อๆ ละ 5 ทีม) ทาง Facebook Fanpage : PTTEP CSR : มีนาคม 2567
- ทีมที่ผ่านการคัดเลือก 15 ทีม เข้าร่วมการอบรม Workshop (ทุกทีมต้องมีผู้เข้าร่วมอบรมอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกในทีม) : เมษายน 2567 (จัดกิจกรรมจำนวน 2 วัน)
- ทีมที่ผ่านการคัดเลือก 15 ทีม ส่งผลงานรอบตัดสิน : พฤษภาคม 2567
- ทีมที่ผ่านการคัดเลือก 15 ทีม นำเสนอผลงานในรอบตัดสินและร่วมพิธีมอบรางวัล : พฤษภาคม 2567
หมายเหตุ กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม และการจัดกิจกรรมอาจจัดขึ้นในรูปแบบ Onsite และ / หรือ Online โดยจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อทีมที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 15 ทีม เพื่อยืนยันนัดหมายวัน - เวลา สถานที่ในการเข้าร่วมกิจกรรม Workshop รวมถึงกิจกรรมตัดสินและมอบรางวัล
เกณฑ์การให้คะแนน (100 คะแนน)
- Innovativeness (30/100)
- ความคิดสร้างสรรค์
- ความแปลกใหม่ ยังไม่เคยมีคนทำมาก่อน หรือต่อยอดได้อย่างน่าสนใจ โดยไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น
- ผลงานที่ส่งเข้าประกวดควรมีความแตกต่างจากผลงานการประกวดในปี 2564
- ผลที่คาดว่าจะได้รับ (30/100)
- ความพยายาม / ความท้าทาย / ความซับซ้อนของโครงการ ในการนำความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มาสู่การปฏิบัติ
- แสดงการวิเคราะห์ปัญหา / ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลในทุกรูปแบบที่ชัดเจน
- ส่งผลกระทบอันเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม (ผลงานนวัตกรรมและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม)
- Implementation Possibility (30/100)
- มีองค์ประกอบของทรัพยากรที่เอื้อต่อความสำเร็จ / ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ สามารถใช้งานได้จริง ระยะการพัฒนารวมถึงความพร้อมในการผลิตนวัตกรรมและนำมาใช้ได้ทันที
- ชุมชนสามารถนำไปประยุกต์ / ใช้งานได้โดยง่าย ปลอดภัย และสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ
- โอกาสในการเป็นต้นแบบนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้
- มีแผนการทำงาน/แผนการจัดการที่แสดงถึงความยั่งยืนของนวัตกรรม
- ความคุ้มค่า : งบประมาณที่ใช้เทียบกับ ผลที่คาดว่าจะได้รับของโครงการ
- Related to PTTEP (10/100)
- มีความเกี่ยวข้องต่อโครงการเพื่อสังคมภายใต้กลยุทธ์ Ocean for Life หรือการดำเนินธุรกิจของ ปตท.สผ. และการสร้างประโยชน์ต่อการดำเนินงานในเชิงคุณภาพและปริมาณ
รางวัลการประกวด
- รางวัลชนะเลิศ ในแต่ละหัวข้อการประกวด ได้รับเงินรางวัล ทีมละ 130,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและใบประกาศนียบัตร
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในแต่ละหัวข้อการประกวด ได้รับเงินรางวัล ทีมละ 70,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและใบประกาศนียบัตร
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในแต่ละหัวข้อการประกวด ได้รับเงินรางวัล ทีมละ 40,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและใบประกาศนียบัตร
- รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัลในแต่ละหัวข้อการประกวด ได้รับเงินรางวัล ทีมละ 10,000 บาท พร้อมโล่รางวัลและใบประกาศนียบัตร
รางวัลพิเศษ
- ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละหัวข้อการประกวด มีสิทธิได้รับการพิจารณาเพื่อรับเงินรางวัลพิเศษ รางวัลละ 40,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดผลงานต่อไป ทั้งนี้การตัดสินขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่วมกันของ ปตท.สผ. และคณะกรรมการโครงการ โดย ปตท.สผ. ขอสงวนสิทธิ์ในการมอบรางวัลให้แก่ทีมที่พิจารณาแล้วว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมเท่านั้น
- ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับเงินรางวัลพิเศษ ต้องจัดทำข้อเสนอ โครงการ (Proposal) ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาคัดเลือก
- ผู้ที่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับเงินรางวัลพิเศษ ต้องดำเนินการตามข้อเสนอโครงการ (Proposal) ภายใน 45 วัน นับแต่ได้รับเงินรางวัลพิเศษ
- หากผู้ที่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับเงินรางวัลพิเศษ ไม่ประสงค์ที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าว ต้องแจ้งสละสิทธิ์พร้อมระบุเหตุผลให้ผู้ประสานงานโครงการทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน 5 วัน นับจากวันประกาศผล
- ในกรณีที่มีการสละสิทธิ์รับเงินรางวัลพิเศษข้างต้น ปตท.สผ. และคณะกรรมการโครงการ อาจพิจารณามอบเงินรางวัลพิเศษแก่ทีมที่ได้อันดับรองลงมาตามลำดับ ทั้งนี้ตามที่ ปตท.สผ. และคณะกรรมการโครงการเห็นสมควร
- คำชี้ขาดหรือคำตัดสินของ ปตท.สผ. และคณะกรรมการโครงการในทุกกรณี ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ส่ง ผลงานเข้าประกวดจะอุทธรณ์ หรือโต้แย้ง มิได้
ติดต่อสอบถาม
www.facebook.com/pttepcsr