การบรรยาย หัวข้อ "ร่องรอยมรดกทางวัฒนธรรมที่ต่างชาติทิ้งไว้ผ่านเส้นทางความสัมพันธ์อยุธยา"
การบรรยาย หัวข้อ "ร่องรอยมรดกทางวัฒนธรรมที่ต่างชาติทิ้งไว้ผ่านเส้นทางความสัมพันธ์อยุธยา" โดยวิทยากร ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ และ ดร.ภาวรรณ เรืองศิลป์ ดำเนินรายการโดยวรเทพ อรรคบุตร การบรรยายจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 30 มกราคม 2559 เวลา 15.00-17.00น. ณ ห้องไอยรา พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน
หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ขอเชิญฟังบรรยายในหัวข้อ ร่องรอยมรดกทางวัฒนธรรมที่ต่างชาติทิ้งไว้ผ่านเส้นทางความสัมพันธ์อยุธยา โดยวิทยากร ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ และ ดร.ภาวรรณ เรืองศิลป์ ดำเนินรายการโดยวรเทพ อรรคบุตร การบรรยายจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 30 มกราคม 2559 เวลา 15.00-17.00น. ณ ห้องไอยรา พิพิธภัณฑ์บ้านไทย จิม ทอมป์สัน การบรรยายครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในนิทรรศการ The Making of Golden Teardrop และจะดำเนินรายการเป็นภาษาไทยเท่านั้น
ความสัมพันธ์ของอาณาจักรสยามกับนานาประเทศเริ่มขึ้นครั้งแรกในสมัยอยุธยา ด้วยวัตถุประสงค์ทางการค้าและการแสวงหาเครื่องเทศเป็นหลัก การเข้ามาของคนต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา ทำให้เกิดปะทะสังสรรค์และการปรับเปลี่ยนผสมผสานวิถีชีวิต ความเชื่อ ของคนสยามในเวลาต่อมา จนเป็นมรดกตกทอดทางวัฒนธรรม รวมถึงวิทยาการด้านอื่นๆ ที่ยังปรากฏร่องรอยและส่งต่ออิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน การบรรยายครั้งนี้จะแบ่งเป็นสองช่วงโดย ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ จะกล่าวถึงประเด็น “ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะอินโด-เปอร์เซีย กับศิลปกรรมไทยสมัยอยุธยา” และช่วงที่สอง ดร.ภาวรรณ เรืองศิลป์ จะบรรยายในหัวข้อ “ราชสำนักอยุธยากับของต่างแดน จากเอกสารของฮอลันดา”
การบรรยายครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการศึกษาภายใต้นิทรรศการ The Making of Golden Teardrop โดยศิลปิน อริญชย์ รุ่งแจ้ง ซึ่งเป็นการนำเสนอเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ความทรงจำ และเรื่องเล่าส่วนตัว โดยใช้ “ขนมทองหยอด” เป็นแกนกลางในการสร้างผลงาน ผ่านเทคนิคสื่อผสมหลากรูปแบบที่ท้าทายความรู้และมุมมองของคนดูเกี่ยวกับความจริงและเรื่องเล่า นิทรรศการครั้งนี้ไม่ได้มุ่งนำเสนอการเขียนประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่ แต่เป็นการนำเสนอเศษเสี้ยวของเรื่องเล่าและความทรงจำบางส่วนของบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงผ่านประวัติศาสตร์ของน้ำตาล เรื่องราวต่างๆ ในบันทึกและเรื่องเล่าจากอดีตที่ศิลปินหยิบยกขึ้นมาเล่าผ่านการเดินทางของน้ำตาลนี้ แสดงให้เห็นการติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกันระหว่างชาวพื้นเมืองกับผู้มาเยือนจากต่างถิ่น ซึ่งเชื้อเชิญให้ผู้เยี่ยมชมได้ลองเปลี่ยนมุมมองและความเชื่อของตน
(นิทรรศการเปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-19.00 น. จนถึงวันที่ 22 มีนาคม 2559)เกี่ยวกับผู้บรรยาย
ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(เกียรตินิยม) ระดับปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเชี่ยวชาญและความสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยา และประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางและโลกมุสลิม ปัจจุบัน ผศ.ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดร.ภาวรรณ เรืองศิลป์ ผู้เชี่ยวชาญสาขาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างเอเชียและยุโรป จบการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองผู้อำนวยการ หลักสูตรปริญญาโทยุโรปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผลงานตีพิมพ์ด้านประวัติศาสตร์อยุธยา ประวัติศาสตร์ยุโรปสมัยใหม่
เกี่ยวกับผู้ดำเนินรายการ
วรเทพ อรรคบุตร เป็นนักวิจารณ์ทัศนศิลป์ และภัณฑารักษ์อิสระ เคยคัดสรรนิทรรศการ Safe Place In The Future ที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน (2555 ) และ MCAD, De La Salle-College of Saint Benilde กรุงมะนิลา (2556) ร่วมกับโสมสุดา เปี่ยมสัมฤทธิ์, Poperomia/Golden Teardrop โดยอริญชย์ รุ่งแจ้งและวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ร่วมกับเพ็ญวดี นพเกตุ มานนท์, ศาลาไทย เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 55 (2556) บรรณาธิการหนังสือศิลปิน (artistsbook) เช่น ไร้แก่นสาร (2548) Navin’s SALA (2550) Tour (2555) เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย บทบาทเชิงรุกของภัณฑารักษ์ต่อพลวัตและการสร้างสมทุนทางวัฒนธรรมแก่ศิลปะร่วมสมัยไทย (สนับสนุนโดยสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย, กระทรวงวัฒนธรรม ปีงบประมาณ 2558)สอบถามข้อมูลหรือรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน โทร.02.612.6741 อีเมล์ artcenter@jimthompsonhouse.com / www.jimthompsonartcenter.org / FB: The Jim Thompson Art Center
ข่าวประชาสัมพันธ์ : หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน : The Jim Thompson House