^ Back to Top

ประกวด อนิเมชั่น ส่งเสริมความรู้สื่อสาธารณะ “เจ้าส้ม กับ ครอบครัวไทยพีบีเอส” (ระดับอุดมศึกษา)

 ประกวด อนิเมชั่น ส่งเสริมความรู้สื่อสาธารณะ “เจ้าส้ม กับ ครอบครัวไทยพีบีเอส”

สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) เปิดโครงการประกวดอนิเมชั่น เล่าเรื่องความเป็นสื่อสาธารณะ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องสื่อสาธารณะแก่ประชาชน
ผ่านตัวการ์ตูน “เจ้าส้ม กับ ครอบครัวไทยพีบีเอส” ไม่จำกัดเทคนิค ความยาว 3-5 นาที สำหรับผู้ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษาทุกสาขาที่สนใจ

หลักการและที่มา:
“สื่อสาธารณะไทยพีบีเอส” ได้ดำเนินการผลิตรายการโทรทัศน์และเผยแพร่สื่อคุณภาพเพื่อสังคมเป็นระยะเวลาที่จะครบ 5 ปี และจะย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 6 ในเดือนมกราคม ปี พ.ศ. 2556 นอกจากจะเป็นสื่อสาธารณะที่มุ่งหวังสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งความก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของโลกแล้ว ไทยพีบีเอสยังมุ่งหวังพัฒนาเผยแพร่ความรู้เรื่องสื่อสาธารณะที่ถูกต้องแก่ประชาชนและสังคม เพื่อที่ว่าประชาชนจะได้เข้าใจและสามารถมีส่วนร่วมกับสื่อสาธารณะได้อย่างดี อันจะทำให้การทำงานของสื่อสาธารณะสามารถตอบโจทย์ความต้องการ ความจำเป็นของสังคมและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คำว่า “สื่อสาธารณะ” (public media or public service broadcasting) นั้นเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2551 จากพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นผลจากการปฏิรูปสื่อตั้งแต่ปีพ.ศ. 2540 เป็นต้นมา และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ก็นับได้ว่าเป็นสื่อสาธารณะแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญคือ ความเป็นอิสระจากรัฐบาล ทุนเชิงพาณิชย์ และ กลุ่มกดดันทางสังคมและการเมือง มีเป้าหมายเพื่อให้การศึกษา ความรู้ที่สอดคล้องจำเป็นแก่ประชาชนทุกกลุ่ม เสริมสร้างประชาธิปไตยและการเมืองในในเชิงสร้างสรรค์ในมิติความเป็นพลเมือง ส่งเสริมความเท่าเทียม ความยุติธรรมและความหลากหลายทางสังคม และให้ข้อมูลสารสนเทศแก่ประชาชนเพื่อการก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชนและภาคประชาสังคม

“การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจสื่อสาธารณะแก่ประชาชน” เป็นพันธกิจหนึ่งของไทยพีบีเอส ด้วยหวังประโยชน์ว่า หากประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในสื่อสาธารณะที่ถูกต้องแล้ว ประชาชนที่มีฐานะเป็นเจ้าของสื่อสาธารณะ ก็จะสามารถ “ใช้สื่อสาธารณะ” เพื่อตอบโจทย์ ปัญหา ความจำเป็นความต้องการพื้นฐาน สิทธิในการสื่อสารเพื่อพัฒนาตนเองและประเทศชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

“อนิเมชั่น” สามารถเป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่สามารถใช้สื่อสารแนวคิดเรื่องสื่อสาธารณะให้เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ นอกจากนี้ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสยังมีแผนยุทธศาสตร์สนับสนุนอุตสาหกรรม ผู้ผลิต และการเผลิตอนิเมชั่นในประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย
สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) จึงได้จัดโครงการประกวดอนิเมชั่นส่งเสริมความรู้สื่อสาธารณะ “เจ้าส้ม กับ ครอบครัวไทยพีบีเอส” ด้วยมุ่งหวังสนับสนุนสถาบันการศึกษา หน่วยงานด้านวิชาการนิเทศศาสตร์ให้มีการพัฒนาทักษะด้านวิชาชีพ ทั้งในการผลิตรายการ การถ่ายทำ ที่เชื่อมโยงกับหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทาลัย เพื่อที่ผู้เรียนนิเทศศาสตร์จะได้มีโอกาสในการพัฒนาทักษะวิชาชีพเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การทำงานจริง

วัตถุประสงค์:

  1. เพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องสื่อสาธารณะและไทยพีบีเอสแก่ประชาชน ผ่านรูปแบบผลงานการประกวดอนิเมชั่นโดยเยาวชนกลุ่มนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา
  2. เพื่อส่งเสริมกระบวนการคิด พัฒนา ทักษะและโอกาส ในการผลิตงานสื่อสารประเภทอนิเมชั่น แก่กลุ่มเยาวชนที่เรียนในสาขาวิชานิเทศศาสตร์อนิเมชั่นในประเทศไทย
  3. เพื่อเสริมสร้างการทำงานด้านเครือข่าย วิชาการนิเทศศาสตร์ กับหน่วยงาน สถาบันวิชาการในประเทศไทย

ผู้รับผิดชอบโครงการ:
สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) (Academic Institute of Public Media)
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)
เลขที่ 145 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
โทรศัพท์ 02-790-2423 โทรสาร 02-790-2020
facebook.com/academic.tpbs, อีเมล์: academicthaipbs@gmail.com

คำนิยาม:
อนิเมชั่น หมายถึง เรื่องราวที่สื่อด้วย ภาพและเสียงที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยเทคนิคคอมพิวเตอร์กราฟฟิก stop motion, ดินน้ำมัน หุ่นตุ๊กตา ภาพวาดการ์ตูนลายเส้น หรือเทคนิควิธีการอื่นๆ ทั้งที่เป็น 2 มิติ หรือ 3 มิติ สี หรือขาวดำ ที่ไม่ได้ใช้ตัวแสดงที่เป็นคนจริงๆ รับชมได้ผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์หรืออุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ หรือสามารถรับชมได้ผ่านทางอินเตอร์เน็ต
สื่อสาธารณะ หมายถึง สื่อดำเนินงานด้วยความเป็นอิสระ จากรัฐบาล ทุนพาณิชย์ กลุ่มกดดันทางการสังคมและการเมือง (ดูนิยามความหมาย และแนวความรู้ เพิ่มเติมในเอกสารแนบ และ facebook.com/academic.tpbs)
ไทยพีบีเอส หมายถึง สถานีโทรทัศน์ไทยพบีเอส ภายใต้ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)

คุณสมบัติของผู้ประกวด

  1. กำลังศึกษาในระดับอุดมศึกษา ชั้นปีที่ 1-4 ในมหาวิทยาลัย/คณะ/ ภาควิชา/สาขาวิชาที่มีการเรียนการสอนด้านสื่อดิจิตัล และอนิเมชั่น วิทยุ โทรทัศน์ โฆษณา หรือสาขาเทคโนโลยีการศึกษา เทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งในระดับภาครัฐหรือเอกชน
  2. รวมกลุ่มสมัครเป็นทีมๆ ละไม่เกิน 5 คน (1 คนสมัครได้ 1 ทีม)
  3. ทุกทีมต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษา (อาจารย์สามารถเป็นที่ปรึกษาได้มากกว่า 1 ทีม)
  4. หนึ่งสถาบันสามารถสมัครได้มากกว่าหนึ่งทีม

การส่งหลักฐานสมัคร
1. ขอรับใบสมัครได้ที่ภาควิชาของท่าน หรือ สามารถดาวน์โหลดใบสมัคร ได้ที่ facebook.com/academic.tpbs
2. กรอกข้อมูลในใบสมัคร พร้อมติดรูปถ่ายสมาชิกในทีม ส่งใบสมัครพร้อมสำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาบัตรนักศึกษา พร้อมลงนามรับรองสำเนา เบอร์โทรศัพท์ติดต่อกลับ และ e-mail address

  1. เอกสารเสนอแนวความคิด (concept paper)
  2. แนวเค้าโครงเรื่อง (Story Board) พร้อมสคริปต์ (Script) ประกอบเป็นรูปเล่ม รวมไม่เกิน 10 หน้า เอสี่
  3. ไฟล์ตัวอย่างผลงานแอนิเมชั่น ที่จะประกวด ความยาว 1-3 นาที (ที่มีเนื้อหาตามเค้าโครงเรื่องที่ต้องการเสนอ) เป็นไฟล์ *avi, flv, หรือ mov โดยบันทึกลงแผ่นดีวีดี หรือส่งไฟล์ผ่านทางอีเมล์
  4. พร้อมระบุเทคนิค วิธีการ ที่ใช้ในการผลิต ตลอดจนอุปกรณ์ หรือซอฟแวร์ที่ใช้ในการผลิต

3. ส่งเอกสารหลักฐานและไฟล์ตัวอย่างผลงาน มาทางไปรษณีย์ วงเล็บมุมซอง Thai PBS Animate Contest หรือ ทางอีเมล์ academicthaipbs@gmail.com
4. หมดเขตรับผลงาน วันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2555 (กรณีส่งจดหมาย ดูประทับตราไปรษณีย์เป็นสำคัญ) กรณีส่งทางอีเมล์ ภายในเวลา 24.00 น. และหลังจากส่งผลงานแล้วกรุณาโทรศัพท์แจ้งกับเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบการยืนยันว่าส่งผลงาน

รายละเอียดการประกวด
(1) แนวคิดการประกวด
ผู้ส่งผลงานประกวด ต้องใช้ต้นแบบแนวคิด “เจ้าส้ม กับครอบครัวไทยพีบีเอส” ที่กำหนดมาให้เป็นต้นแบบในการพัฒนา ผลิตอนิเมชั่น
ผู้ส่งผลงานประกวด ต้อง สร้างเนื้อหาเพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องสื่อสาธารณะ/ไทยพีบีเอส
ผู้ส่งผลงานประกวด สามารถใช้เทคนิคใดก็ได้ในการผลิตอนิเมชั่น
ผู้ผลิตผลงานจะต้อง ผลิตผลงานอนิเมชั่นนั้นด้วยตนเอง

(ดูรายละเอียดตัวลักษณะตัวการ์ตูน และแนวคิดต้นแบบสื่อสาธารณะ ตามเอกสารแนบ หรือ facebook.com/academic.tpbs)

(2) การประกวด แบ่งเป็นดังนี้
2.1 รอบคัดเลือก (คัดเลือกเหลือ 8-10 ทีม) จากการส่งผลงานในรอบแรก ซึ่งกำหนดส่งผลงานภายใน ศุกร์ที่ 28 กันยายน 2555 จากนั้นคณะกรรมการจะพิจารณาผลงานโดยใช้หลักเกณฑ์การตัดสิน และจะประกาศรายชื่อผลงานที่ผ่านเข้ารอบ ภายใน 30 วัน
ประกาศผลทาง facebook.com/academic.tpbs ภายในเดือนตุลาคม 2555
2.2 การอบรมเชิงปฏิบัติการ ทีมที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก พร้อมอาจารย์ที่ปรึกษาจะได้รับการอบรมพัฒนาการผลิตอนิเมชั่นแบบมืออาชีพ ขั้นสูง ที่สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งจะกำหนดอยู่ในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2555
2.3 ช่วงการพัฒนาผลงาน หลังจากทีผ่านการอบรม ทีมจะต้องพัฒนาผลงานเพื่อแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจะมีเวลาพัฒนาผลงานและกำหนดส่งผลงานในรอบสุดท้าย ภายในวันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2555
2.4 รอบชิงชนะเลิศ ทุกทีมพร้อมอาจารย์ที่ปรึกษาจะต้องมานำเสนอผลงาน ต่อคณะกรรมการในรอบชิงชนะเลิศ ในวันเสาร์ที่ 12 มกราคม 2556 ที่สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (ไทยพีบีเอส)(สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการประกวด)

ลิขสิทธิ์ของผลงาน
ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก และรอบชิงชนะเลิศ เป็นลิขสิทธิ์ของ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ และไทยพีบีเอส ผลงานทั้งหมดที่มีคุณภาพ จะถูกนำไปใช้เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องสื่อสาธารณะผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์ และทางเว็บไซต์

หลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้
(1) ความสอดคล้อง ตรงประเด็น ของเนื้อหา โดยที่เนื้อหาของอนิเมชั่น จะต้องสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวคิดสื่อสาธารณะตามมิติประเด็นต่างๆ ได้อย่างดี

  • ความถูกต้อง ครบถ้วน ของข้อมูล เนื้อหาสาระ
  • จังหวะ การเล่าเรื่องมีความน่าสนใจ สื่อสารออกมาแล้วเข้าใจได้ง่าย
  • มีความความสั้น กระชับ

(2) เทคนิคการผลิต การนำเสนอ มีความน่าสนใจ มีคุณภาพดี ใช้เทคนิคการผลิตที่มีความเหมาะสม สร้างสรรค์

  • การพัฒนา สร้างสรรค์คุณลักษณะของตัวการ์ตูน (charecter) “เจ้าส้มและครอบครัวไทยพีบีเอส” มีความสอดคล้อง เหมาะสม และน่าสนใจ และโดดเด่น
  • ภาพ แสง เสียง สี มีคุณภาพ ชัดเจน คมชัด เหมาะสม และมีมาตรฐานเพียงพอสำหรับการออกอากาศ (ดูมาตรฐานในการบีบอัดไฟล์ ในเอกสารแนบ)
  • มุมภาพ การตัดต่อ การเรียบเรียง เป็นไปอย่างเหมาะสม
  • ความทันสมัย ความสร้างสรรค์ของการนำเสนอ
  • ดูสนุก ไม่น่าเบื่อ
  • มีความโดดเด่น แตกต่าง ไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น
  • ความยาวไม่เกินกว่ากำหนด (5 นาที)

(3) คุณค่า สารประโยชน์ของอนิเมชั่น จะต้องสามารถสื่อสารกับคนทั่วไปให้มีความรู้ ความเข้าใจในสื่อสาธารณะได้ และสามารถสร้างทัศนคติเชิงบวกต่อความเป็นสื่อสาธารณะ

(4) หลักเกณฑ์การพิจารณาประกอบ อื่นๆ เช่น การส่งเอกสารหลักฐาน มีความครบถ้วนสมบูรณ์ และปฏิบัติตามกติกาการประกวดครบถ้วน

ประเภทของรางวัล
ในการประกวดรอบชิงชนะเลิศ แบ่งรางวัลออกเป็นดังนี้

  • รางวัลที่ 1 จำนวน 1 รางวัล เป็นเงินทุนการศึกษา จำนวน 50,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ และใบประกาศเกียรติคุณ
  • รางวัลที่ 2 จำนวน 1 รางวัล เป็นเงินทุนการศึกษา จำนวน 30,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ และใบประกาศเกียรติคุณ
  • รางวัลที่ 3 จำนวน 1 รางวัล เป็นเงินทุนการศึกษา จำนวน 15,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ และใบประกาศเกียรติคุณ
  • รางวัลชมเชย จำนวน 5 รางวัล เป็นเงินทุนการศึกษา จำนวน 7,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ และใบประกาศเกียรติคุณ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) ฝ่ายส่งเสริมความรู้สื่อสาธารณะ
คุณ สาธิต ดิษโยธิน ผู้จัดการฝ่ายส่งเสริมความรู้สื่อสาธารณะ หรือ
คุณ ธนพงษ์ ทิพย์สุขุม, คุณสรรเพชญ ศรีทอง เจ้าหน้าที่ฝึกอบรม
หมายเลขโทรศัพท์ 02-790-2428-9

เผยแพร่ : http://www.contestwar.com/

มูลค่าเงินรางวัลรวม: 
130,000 Baht
File attachments: 
หมดเขต: 
07 ก.ย. 2012 10:00 to 28 ก.ย. 2012 00:00

Members Online

There are currently 0 users online.