ประกวดศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติ ครั้งที่ 17
มหาวิทยาลัยศิลปากร ขอเชิญผู้สนใจ ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวม 500,000 บาท และโล่รางวัล
ระเบียบการการประกวด
1. ประเภทงานเครื่องปั้นดินเผา
1.1 เครื่องปั้นดินเผาประเภทศิลปกรรมร่วมสมัย หมายถึง ผลงานเครื่องปั้นดินเผาที่แสดงออกถึงสุนทรียะแห่งคุณค่าทางศิลปกรรม โดยผ่านเทคนิค และกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานทางเครื่องปั้นดินเผา และวิธีการนำเสนอต่อสาธารณะ
1.2 เครื่องปั้นดินเผาประเภทหัตถกรรม หมายถึง ผลงานที่มีความโดดเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์ และการออกแบบ ซึ่งสามารถแสดงออกถึงคุณค่าแห่งความงามทางด้านศิลปะที่แสดงถึงทักษะ ความชำนาญ ความประณีต งดงาม มีคุณค่าทางศิลปหัตถกรรมหรือผลงานที่มีรากฐานความคิดและเทคนิค การสร้างสรรค์ผลงานที่ได้รับความบันดาลใจตามที่ช่างโบราณได้สร้างสรรค์แล้ว และสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อสนองประโยชน์ใช้สอยหรือประดับตกแต่งศิลปหัตถกรรมโดยผ่านเทคนิค และกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานทางเครื่องปั้นดินเผา
1.3 เครื่องปั้นดินเผาประเภทผลิตภัณฑ์ต้นแบบอุตสาหกรรม หมายถึง ผลิตภัณฑ์ต้นแบบเครื่องปั้นดินเผาที่ผู้ผลิตสร้างสรรค์ออกแบบจะต้องเป็นผลงานที่ผลิตตามกระบวนการทางเครื่องปั้นดินเผาที่เสร็จสมบูรณ์เพื่อใช้ตกแต่ง และสามารถนำไปผลิตในระบบอุตสาหกรรม (ต้องเป็นผลงานสำเร็จที่ยังไม่เคยส่งเข้าประกวด และผลิตออกจำหน่ายมาก่อน) มีการแสดงออกด้านความงาม ความคิดสร้างสรรค์ รูปแบบที่เหมาะสมกับการใช้สอย โดยมีการสร้างสรรค์ภายใต้หัวข้อ “ผลิตภัณฑ์ เพื่อตกแต่งภายในอาคาร (Indoor Decoration)
1.4 เครื่องปั้นดินเผาประเภทผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา และนวัตกรรมใหม่ หมายถึง องค์กร หน่วยงานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ กรณีเอกชนเจ้าของกิจการต้องมีสัญชาติไทย มีผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาเชิงอุตสาหกรรม ที่มีอัตลักษณ์ และนวัตกรรมใหม่ในการออกแบบ เทคนิคการผลิต การจำหน่าย การทำหีบห่อ และการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ คุณภาพสินค้า คุณธรรมในธุรกิจ การบริหารจัดการบนหลักธรรมาภิบาล การมีจิตสาธารณะ โดยสนับสนุนนโยบาย และแผนปฎิบัติงานผลิตที่เป็นมิตรกับสังคม สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ
หมายเหตุ : ผลงานที่ส่งประกวดในแต่ละประเภท จะต้องเป็นผลงานที่ผลิตตามกระบวนการทางเครื่องปั้นดินเผาที่เสร็จสมบูรณ์แล้วเท่านั้น ยกเว้นผลงานเครื่องปั้นดินเผาในข้อ 1.4 เครื่องปั้นดินเผาประเภทผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา และนวัตกรรมใหม่ ทางคณะกรรมการฯ จะเป็นผู้คัดสรรรายชื่อบริษัทผู้สมควรที่จะได้รับรางวัล และจะติดต่อไปยังบริษัทที่ได้ตัดสินให้รางวัล โดยบริษัทไม่ต้องส่งผลงานเข้าประกวด
2. การส่งผลงานเข้าประกวด
2.1 ศิลปิน 1 ท่าน มีสิทธิส่งผลงานศิลปะเครื่องปั้นดินเผาเข้าประกวดได้ไม่เกิน ท่านละ 2 ชุด(ชิ้น) ต่อประเภท โดยแต่ละชุด(ชิ้น) ต้องมีขนาดไม่เกิน 4 ตารางเมตร และต้องแนบภาพถ่าย หรือภาพร่างแสดงความประสงค์การจัดวาง
2.2 การส่งผลงานเครื่องปั้นดินเผา ในข้อ 1.1 ข้อ 1.2 และข้อ 1.3 ทางพัสดุ จะต้องบรรจุในกล่องไม้ หรือหีบห่อกระดาษแข็งที่กันกระแทกได้ดี สามารถป้องกันการแตกหักเสียหายจากการขนย้ายและการกระแทกได้ มหาวิทยาลัยศิลปากร จะระวังรักษาผลงานทุกชิ้นที่ส่งเข้าประกวดและแสดงอย่างระมัดระวังอย่างยิ่ง แต่จะไม่รับผิดชอบความเสียหายอันเกิดจากอุบัติเหตุ หรือเหตุอันสุดวิสัย
ศิลปินจะต้องดำเนินการดังนี้
- กรอกรายละเอียดในแบบพิมพ์ของมหาวิทยาลัย โดยศิลปินจะต้องกรอกชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และรายละเอียดอื่นๆ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษในแบบพิมพ์ด้วยตัวบรรจงตามข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยศิลปากร
- แนบสำเนาบัตรประชาชน พร้อมเซ็นชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง
- กรณีเป็นผลงาน ๓ มิติ หรือผลงานที่มีการติดตั้ง ศิลปินต้องแนบหรือหรือเขียนวิธีการติดตั้งผลงานให้ชัดเจนแนบมาพร้อมกับใบสมัครด้วย ยกเว้นบางกรณีที่ศิลปินต้องมาติดตั้งผลงานด้วยตนเอง คณะดำเนินงานฯ จะดำเนินการติดต่อนัดหมายเป็นกรณีไป
- ผู้ส่งผลงานจะต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่โดยตรงก่อนที่จะมีการติดตั้งผลงาน โดยเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้แจ้งพื้นที่ในการติดตั้งผลงานและจะต้องติดตั้งในบริเวณที่กำหนดเท่านั้น
3. ผู้มีสิทธิส่งผลงาน
3.1 ผู้มีสิทธิส่งผลงานต้องมีสัญชาติไทย คณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินไม่มีสิทธิส่งผลงานเข้าประกวด ผลงานฯ ต้องไม่เคยเข้าประกวดและแสดงที่ใดมาก่อน ยกเว้นการนำไปแสดงในรูปแบบศิลปนิพนธ์ ซึ่งเป็นข้อกำหนดการสำเร็จการศึกษาทุกระดับ
3.2 มหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่รับผลงานฯ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเข้าประกวดทุกกรณีผู้มีสิทธิส่งงานต้องไม่นำผลงานฯ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ในกรณีมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ผู้มีสิทธิ์ส่งผลงานฯ ต้องรับผิดทางแพ่งและอาญา โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรไม่มีส่วนร่วมการทำความผิดนั้น
4.คณะกรรมการคัดเลือกและตัดสิน
มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอำนวยการ การแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๖๐ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านศิลปะจากสาขาต่าง ๆ มาเป็นคณะกรรมการคัดเลือก และตัดสิน
5. ผลงานที่จัดแสดง ประกอบด้วย
5.1 ผลงานฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีซึ่งมหาวิทยาลัยศิลปากรดำเนินงานกราบบังคมทูลขอพระราชทานอัญเชิญเข้าร่วมแสดง
5.2 ผลงานที่ได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัล และผลงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมแสดง
5.3 ผลงานของศิลปิน หรือบุคคลสำคัญที่ได้รับเชิญให้ส่งผลงานเข้าร่วมแสดง
6. รางวัล
มหาวิทยาลัยศิลปากรโดยมติของคณะกรรมการอำนวยการจัดการประกวดและแสดงเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๗ ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ พิจารณาเสนอมหาวิทยาลัยฯ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินผลงานเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่คัดเลือก และตัดสินฯ ให้รางวัลและผลงานเครื่องปั้นดินเผาที่มีคุณค่าทางศิลปะแก่ผลงานฯ ประเภทข้อ 1.1 - 1.3 ให้แต่ละประเภทดังกล่าวมีรางวัล ดังนี้
- รางวัลยอดเยี่ยม ประเภทละ 1 รางวัล ได้รับโล่รางวัล และเงินรางวัล 50,000 บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน)
- รางวัลผลงานดีเด่น ประเภทละ 3 รางวัล ได้รับโล่รางวัลและเงินรางวัลๆละ 25,000 บาท (สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน)
7. การตัดสิน
คณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินอาจเพิ่มหรือลด รางวัลใดรางวัลหนึ่งได้ตามความเหมาะสม การตัดสินของคณะกรรมการฯ ถือเป็นยุติ จะอุทธรณ์ไม่ได้
8. การถอดถอนรางวัล
กรณีที่มีผู้เสียหายร้องเรียน หรือผู้ไม่ใช่ผู้เสียหายมาแจ้งเบาะแส ปรากฏข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือว่าผลงานที่ได้รับรางวัลใดรางวัลหนึ่ง เป็นผลงานที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของศิลปินผู้อื่น โดยวิธีการทำซ้ำแล้วนำมาส่งเข้าประกวด มหาวิทยาลัยศิลปากรจะแต่งตั้งคณะกรรมการรับการร้องเรียน ทำหน้าที่พิสูจน์จนได้หลักฐานแน่ชัด ให้สิทธิพิจารณาถอดถอนรางวัลและเรียกเงินรางวัลคืนจากศิลปินผู้ทำผิด แล้วให้ทำประกาศแก่สาธารณะทราบทั่วกัน
9. การยกย่องให้เป็นศิลปินเครื่องปั้นดินเผาเกียรติคุณ
ศิลปินที่รับรางวัลยอดเยี่ยมในประเภทเดียวกันรวม 3 ครั้ง หรือรับรางวัลยอดเยี่ยมในประเภทเดียวกันรวม 2 ครั้ง และได้รับรางวัลดีเด่นประเภทเดียวกับรางวัลยอดเยี่ยมอีก 2 ครั้ง มหาวิทยาลัยศิลปากร จะมอบเหรียญทองคำและเกียรติบัตรยกย่องให้เป็นศิลปินเครื่องปั้นดินเผาเกียรติคุณในประเภทที่ได้รับรางวัล และไม่อนุญาตให้ส่งผลงานเข้าประกวดอีก แต่จะเป็นศิลปินรับเชิญให้ส่งผลงานฯ เข้าร่วมแสดงตลอดไป การยกย่องให้นับตั้งแต่การแสดงศิลปะเครื่องปั้นดินเผาแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ปี พ.ศ .2553 เป็นต้นไป
10. กรรมสิทธิ์และสิทธิในการเผยแพร่
ผลงานที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมและรางวัลดีเด่นของประเภท ข้อ 1.1, 1.2 และ 1.3 ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร และเจ้าของผลงานฯ ได้อนุญาตให้มหาวิทยาลัยศิลปากรมีสิทธิ์ในการนำไปเผยแพร่ในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสารสนเทศสมัยใหม่ทุกอย่าง และเผยแพร่ในรูปแบบอื่นๆ
11. กำหนดเวลา
11.1 การส่งผลงาน ตั้งแต่วันที่ 4 - 10 สิงหาคม 2557 ในเวลาราชการ ณ หอศิลป์สนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
11.2 การคัดเลือก และตัดสิน ในวันเสาร์ที่ 23 และวันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม 2557
11.3 ประกาศผลการตัดสิน วันจันทร์ที่ 8 กันยายน 2557
12. การแสดงนิทรรศการ
12.1 ระยะเวลาแสดงงาน 1 เดือน (ระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เดือนธันวาคม 2557 จัดแสดง ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ
12.2 จัดแสดงในงาน Bangkok International Gift Fair and Bangkok International Houseware (BIG & BIH April 2014) ในเดือนเมษายน 2558 โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา
13. การคืนผลงาน
13.1 ผลงานที่ไม่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกและตัดสินให้นำออกแสดงในนิทรรศการดังกล่าว สามารถรับผลงานคืนได้ ตั้งแต่วันที่ 8 – 12 กันยายน 2557 ในเวลาราชการ ณ หอศิลป์สนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
13.2 ผลงานที่ได้รับคัดเลือกเข้าแสดงในนิทรรศการดังข้อ ๑๒. สามารถรับผลงานคืนได้ภายในวันที่ 5 - 9 มกราคม 2558 ในเวลาราชการ ณ หอศิลป์สนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
13.3 ส่วนศิลปินที่ประสงค์จะรับผลงานคืน แต่ไม่สามารถมารับคืนได้ตามวันและเวลาที่กำหนด ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายนิทรรศการศิลปะเพื่อนัดหมายวันและเวลาที่จะมารับล่วงหน้า
การส่งและการรับคืนผลงานให้ดำเนินการในวัน และเวลาที่กำหนดในข้อ 11.1 และข้อ 13 หากผลงานชิ้นใดศิลปินผู้เป็นเจ้าของผลงานไม่มารับคืนภายในวัน และเวลาที่
กำหนดไว้ มหาวิทยาลัยฯถือว่าศิลปินเจ้าของผลงานชิ้นนั้นยินยอมให้มหาวิทยาลัยศิลปากรมีกรรมสิทธิ์ในผลงานดังกล่าวโดยปริยาย โดยมหาวิทยาลัยศิลปากรมีสิทธิ์
ดำเนินการตามที่เห็นสมควร อาทิเช่น อาจนำผลงานศิลปกรรมทั้งหมด หรือบางส่วนไปประมูลเพื่อนำเงินมาใช้ในราชการ หรืออาจมอบให้แก่ส่วนราชการ หรือองค์กรสาธารณ
กุศล หรืออื่นๆ เป็นต้น
ข่าวประชาสัมพันธ์ : คุณละอองทิพย์
- Log in to post comments