ประกวดแบบทางเท้า ภูมิทัศน์ ย่านสยามสแควร์ Bangkok Sabai Walk Contest 2010
โครงการ กรุงเทพเดินสบาย (Bangkok Sabai Walk) เชิญร่วมประกวดแบบเพื่อปรับปรุงทางเท้าและภูมิทัศน์ย่านสยามสแควร์เพื่อคนกรุงเทพ โดยผลงานที่ชนะการประกวดจะถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงจริง เริ่มเดือนมกราคม ถึงเดือนสิงหาคม 2553
กำหนดการ
ประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการประกวด มกราคม – กุมภาพันธ์ 2553
ปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมการประกวด มีนาคม 2553
ช่วงสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2553
กำหนดส่งแบบ มิถุนายน 2553
การคัดเลือกรอบแรก มิถุนายน – กรกฎาคม 2553
การตัดสินรอบสุดท้าย กรกฎาคม – สิงหาคม 2553
การดำเนินการปรับปรุงตามแผน สิงหาคม 2553
งานวิจัยและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
ถนนเพื่อคนสยาม (Foot Street) : แผนปรับปรุงพื้นที่รอบสยามแสควร์ โดยจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
ความเป็นมา
กรุงเทพเป็นเมืองใหญ่ที่มีชีวิตชีวาและเต็มด้วยสีสัน แต่ก็มีปัญหาเหมือนกับเมืองใหญ่ทั่วๆ ไป ความเจริญและทันสมัยของเมืองได้ทำให้ความน่าอยู่ลดน้อยลง ปริมาณรถยนต์และถนนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ทางเท้าที่สะดวกกับการสัญจรไปมากลับหายากขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือ มลภาวะทางอากาศ เสียง และความแออัด มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้คนที่ใช้ทางเท้าสัญจรไปมา อีกทั้งมีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจน้อยลง
ในการประกวดนี้ เราเจาะจงพื้นที่ใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยจะเริ่มที่สถานีสยาม ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้พยายามปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และสามารถทำให้คุณภาพอากาศของกรุงเทพดีขึ้น แต่คุณภาพอากาศใต้สถานีรถไฟฟ้าต่างๆ ยังคงเป็นพิษ ทั้งยังมืด ขมุกขมัว เต็มไปด้วยฝุ่นละอองและมลภาวะทางเสียง การที่รถไฟฟ้าเป็นการขนส่งมวลชนทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากได้ทำให้คน จำนวนมากต้องเผชิญกับมลภาวะทางอากาศ เสียง ทัศนียภาพที่ไม่สวยงาม รวมทั้งมีทางเท้าที่ไม่เอื้อต่อการสัญจรของคนทั่วไปและผู้พิการ
เราคือใคร
คนกรุงเทพที่อยากเห็นกรุงเทพน่าอยู่และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้รวมตัวกันโดยใช้ชื่อว่า กลุ่มกรุงเทพเดินสบาย (Bangkok Sabai Walk) ประกอบด้วยนักออกแบบผังเมือง ภูมิสถาปนิก สถาปนิก วิศวกร นักออกแบบและศิลปิน โดยจะเริ่มที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สยามเพื่อเป็นตัวอย่างให้พื้นที่อื่นๆ ในกรุงเทพ
จุดประสงค์
• เพื่อปรับปรุงพื้นที่เพื่อการสัญจรไปมาทุกประเภทโดยเฉพาะคนเดินถนนและผู้พิการ
• เพื่อลดมลภาวะทางอากาศ
• เพื่อเพิ่มความสว่าง
• เพื่อลดมลภาวะทางเสียง
• เพื่อปรับปรุงทัศนียภาพ
ทั้งนี้ควรใช้วัสดุและการก่อสร้างที่
• ใช้พลังงานทางเลือก
• ใช้วัสดุที่ราคาพอเหมาะ ทนทานและคงสภาพที่ดีได้เป็นเวลานาน หรือเป็นวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้
• ใช้โครงสร้างที่คงทน ไม่ต้องดูแลรักษา หรือง่ายต่อการดูแลรักษาในระยะยาว
องค์กรร่วมจัด
เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
องค์การคน พิการสากลประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ
สมาคมสถาปนิกสยาม
ชมรมหรี่เสียงกรุงเทพ
พื้นที่
บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยามซึ่งเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมที่หลากหลายของคนกรุงเทพ
ระหว่างถนนอังรีดูนังต์กับถนนพญาไท
ผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมการประกวด
นักศึกษา ศิลปิน นักออกแบบ สถาปนิก และคนทั่วไปที่อยากทำให้กรุงเทพน่าอยู่
- Log in to post comments