โครงการเกี่ยวก้อย 7 ลบเส้นพรมแดนด้วยศิลปะภาพยนตร์
โครงการเกี่ยวก้อย 7 ลบเส้นพรมแดนด้วยศิลปะภาพยนตร์ เปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมเรียนรู้ และผลิตภาพยนตร์สั้นส่งเสริมความเข้าใจในความแตกต่างทางความคิด ความเชื่อและวิถีชีวิตภายใต้แนวคิด “เปิดประตู”
เกี่ยวก้อย คือ ?
โครงการเกี่ยวก้อยมุ่งลบเส้นพรมแดนด้วยศิลปะภาพยนตร์ โดยความร่วมมือของเยาวชน คนท้องถิ่น รวมถึงผู้กำกับหนังอาชีพและสื่อมวลชน มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนริเริ่มเกี่ยวก้อยในปีพ.ศ. 2553 และดำเนินโครงการร่วมกับภาคีหลากหลายต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน ด้วยการสนับสนุนของแหล่งทุนบริจาคที่ผลัดเปลี่ยนเวียนไปในแต่ละปี ได้แก่่ สำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), โครงการสะพานเพื่อประชาธิปไตย, ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์เพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เป็นต้น
ใน 6 ปีที่ผ่านมา เกี่ยวก้อยได้สนับสนุนให้เกิดหนังสั้นว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่เป็นฝีมือเยาวชนและคนท้องถิ่นรวม 34 เรื่อง และเป็นผลงานฝีมือของผู้กำกับฯอาชีพ 13 เรื่อง หนังในโครงการได้รับการเผยแพร่ผ่านทางเทศกาลระดับประเทศและนานาชาติ กิจกรรมศิลปวัฒนธรรม งานรณรงค์ และรายการโทรทัศน์อีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ ด้วยเสียงตอบรับของผู้ชม คำวิจารณ์เชิงบวก การได้รับคัดเลือกเข้ารอบประกวดในเทศกาลหนังและรางวัลต่าง ๆ ที่งานหลายเรื่องในโครงการได้รับ ได้ทำให้หนังเหล่านี้เดินทางไปถึงผู้คนมากมาย และส่งสารว่าด้วยตัวตนคนท้องถิ่น ศักยภาพของศิลปะภาพยนตร์ และประเด็นทางสังคมและสิทธิมนุษยชนที่ศิลปินต้องการถ่ายทอด
ทุกวันนี้ สมาชิกเกี่ยวก้อยจำนวนหนึ่งยังคงผลิตงานหนังสั้น สื่อเพื่อการรณรงค์ รายการโทรทัศน์ และดำเนินกิจกรรมพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่อยู่อย่างต่อเนื่อง
ใครจะร่วมเกี่ยวก้อย 7 กันได้บ้าง
สมาชิกเกี่ยวก้อยเดิม
- หมายถึงผู้ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้และทำหนังในโครงการเกี่ยวก้อยมาแล้ว ในปีใดก็ได้
- สมัครเป็นทีม5 คน โดยอย่างน้อย 3 ใน 5 ต้องเป็นสมาชิกเกี่ยวก้อยเดิม ซึ่งอาจเป็นการรวมตัวกันข้ามกลุ่มข้ามปี ไม่จำเป็นต้องเป็นทีมเดิม กลุ่มควรระบุชัดเจนว่าใครจะทำงานหน้าที่อะไร
- เป็นกลุ่มที่ยังต้องการสนับสนุนจากเกี่ยวก้อยไม่เพียงแต่งบประมาณทำหนัง แต่ยังรวมถึงการสนับสนุนด้านศักยภาพจากโอกาสที่จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสมาชิกเกี่ยวก้อยรุ่นใหม่ และกระบวนการอื่น ๆ ของโครงการ
- สามารถเข้าร่วมกระบวนการตามที่ระบุไว้ในประกาศนี้ตั้งแต่ต้นจนจบทั้งกลุ่ม
ผู้สนใจที่ยังไม่เคยเกี่ยวก้อยมาก่อน
- อายุเกิน 15 ปีขึ้นไป
- ไม่มีประสบการณ์เข้าร่วมโครงการสร้างศักยภาพด้านการทำหนังมาก่อน หรือเคยเข้าร่วมบ้างแต่น้อยมาก และไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการทำหนังเลย
- สมัครเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5 คน อย่างน้อย 1 คนในกลุ่มควรสื่อสารภาษาไทยหรืออังกฤษได้ และอย่างน้อย 1 คนจะต้องสามารถเขียนภาษาไทย อังกฤษ หรือภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ตนได้ดี
- มีความต้องการจะเรียนรู้กระบวนการทำหนัง และต้องการถ่ายทอดเรื่องราวหรือความนึกคิดที่เกี่ยวข้องกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผ่านหนัง
- สามารถเข้าร่วมกระบวนการตามที่ระบุไว้ในประกาศนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ หากทำงานประจำหรือเรียนอยู่ จะต้องมีจดหมายอนุญาตจากผู้เกี่ยวข้องให้สามารถลามาร่วมกิจกรรมและทำหนังได้
- ปัจจุบันอาศัยอยู่ในภาคเหนือ รวมแม่ฮ่องสอนและตาก และภาคกลางตอนบน
เกี่ยวก้อย 7 แล้วได้อะไร
- สมาชิกกลุ่มทั้ง 5 คนจะได้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้ในระหว่างวันที่ 4-10 ต.ค. 2558 ซึ่งเน้นการพัฒนาบท กระบวนการเตรียมงาน (พรี โพรดั๊กชั่น) และการถ่ายทำหนัง (โพรดั๊กชั่น)โดยสมาชิกที่เป็นผู้กำกับฯและคนตัดต่อจะได้มาร่วมกระบวนการเรียนรู้อีกเป็นครั้งที่สองใน 8-14 ม.ค. 2559 ซึ่งเน้นงานหลังจากถ่ายทำ (โพสต์ โพรดั๊กชั่น) กระบวนการสำหรับสมาชิกเดิมและสมาชิกใหม่จะแตกต่างกันตามความเหมาะสม แต่ทั้งหมดจะได้ทำกิจกรรมร่วมกันด้วย กำหนดเวลากิจกรรมอาจเลื่อนจากเดิมได้เล็กน้อย โดยโครงการจะหารือกับผู้เข้าร่วมโครงการก่อนเสมอ
- หลังจากกิจกรรมเรียนรู้ครั้งแรกเดือนต.ค. 2558 ทีมจะถือบทหนังและแผนการถ่ายทำซึ่งทำเสร็จกันในระหว่างกิจกรรมไว้ในมือ แล้วออกไปเตรียมงานตลอดจนถ่ายทำหนังของตัวเองในการดูแลของพี่เลี้ยง โครงการสามารถสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ฯได้เล็กน้อยตามสมควร การดูแลการทำงานของพี่เลี้ยงสำหรับสมาชิกเดิมจะพิจารณาตามความจำเป็นเท่านั้น
- เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมเรียนรู้ครั้งที่สองในเดือนม.ค. 2559 แต่ละทีมจะมีหนังของตนที่เสร็จสมบูรณ์ไว้ในมือ ซึ่งโครงการจะหาแนวทางสนับสนุนให้ได้รับการเผยแพร่ต่อไป โดยพิจารณาตามความเหมาะสม
ร่วมเกี่ยวก้อย 7 ได้อย่างไร
กดดาวน์โหลดใบสมัครสำหรับ “สมาชิกเกี่ยวก้อยเดิม” หรือ “สมาชิกใหม่” ได้จากลิงค์เบื้องล่างนี้ เขียนหรือพิมพ์ได้ตามสะดวก แล้วส่งของทั้งกลุ่ม (5 ใบสมัคร) มาที่อีเมล์ bordervoices2010@gmail.com หรือ inbox ของ www.facebook.com/holdinghands (โครงการเกี่ยวก้อย) หรือส่งไปรษณีย์ที่ มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน191/2 ม. 1 ต.หนองควาย อ.หางดง เชียงใหม่ 50230 (จ่าหน้าซอง "เกี่ยวก้อย 7” ) หมดเขตรับสมัครวันที่ 1 กันยายน 2558
ดาวน์โหลดใบสมัคร http://www.friends-without-borders.org/activities_show.php?id=48#.Vb7erLeF7fJ
ใครที่เหมาะกับเกี่ยวก้อย 7
ด้วยงบประมาณโครงการหนึ่งย่อมมีจำกัด เราจึงไม่อาจสามารถรับทุกคนที่ต้องการเข้าร่วมเกี่ยวก้อยในปีนี้ได้ เกี่ยวก้อย 7 สามารถรับสมาชิกกลุ่มเดิมได้ 1 กลุ่มและสมาชิกใหม่ 2 กลุ่มเท่านั้น การกำหนดที่อยู่อาศัยปัจจุบันที่เป็นภาคกลางตอนบนและภาคเหนือนั้น เนื่องจากข้อจำกัดของงบประมาณเป็นหลัก
การคัดเลือกสมาชิกเก่า พิจารณาจาก "ความพร้อม" เนื้อหาหนังที่ทีมตกลงปลงใจจะร่วมงานกัน และความต้องการที่จะเข้าร่วมกิจกรรมเป็นหลัก ในขณะที่การคัดเลือกสมาชิกใหม่ จะดูที่ความแน่นอนของทีมที่จะเข้าร่วมกิจกรรมได้จนจบ ความเต็มใจที่จะร่วมงานกัน (แน่นอนว่าต้องไม่ใช่การใส่ชื่อเพื่อนมาโดยที่เจ้าตัวไม่รับรู้) ความตั้งใจและพร้อมจะทุ่มเท และแนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับหนังที่อยากทำ ทั้งนี้ แม้เกี่ยวก้อย 7 จะมีเป้าหมายที่จะให้โอกาสแก่ผู้หญิงและกลุ่มชาติพันธุ์เป็นพิเศษ ก็ไม่ได้กำหนดว่าจะปิดโอกาสกลุ่มอื่น ๆ ที่มีความสนใจจริง
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
- bordervoices2010@gmail.com
- inbox ของ www.facebook.com/holdinghands2
- โทร 082-6274992
ข่าวประชาสัมพันธ์ : K. Dacha Noimaliwan Bunmee
Project Coordinator / Friends-Without-Border Foundation