โครงการประกวดภาพถ่ายและภาพจิตรกรรม ในหัวข้อ การศึกษาไทย
หลักการ และเหตุผล
การศึกษาในประเทศไทยเริ่มนับตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ตัวอักษรไทย เพื่อใช้สำหรับการศึกษา เรียนรู้ เป็นการจัดการศึกษาโดยบ้าน วัด วัง สำนักราชบัณฑิต เน้นวิชาความรู้ด้านอักษรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ไสยศาสตร์ ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ เวชศาสตร์ ตำราพิชัยสงคราม วิชาชีพช่างต่างๆ วิชาแม่บ้าน และการศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา
เมื่อมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การศึกษายังมีรูปแบบคล้าย กรุงสุโขทัย มีความเจริญรุ่งเรือง มีการเปิดรับวิชาความรู้ ศิลปะ วัฒนธรรมต่างๆอย่างหลากหลาย ทั้งภาษาไทย บาลี สันสกฤต ฝรั่งเศส เขมร พม่า จีน มีหนังสือ “จินดามณี”เป็นแบบเรียนเล่มแรกของไทย และมีโรงเรียนมิชชันนารี ถ่ายทอดความรู้วิชาการ และวัฒนธรรมตะวันตก
ครั้งถึงสมัยกรุงธนบุรี เป็นช่วงของการฟื้นฟูประเทศ และการสร้างเมืองหลวงใหม่ การศึกษาจึงเน้นในเรื่องการฟื้นฟูทำนุบำรุงศาสนา มีการรวบรวมตำรายาต่างๆ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงฟื้นฟูศิลปะ เช่น นาฏศิลป์ การแสดงละคร ด้านอักษรศาสตร์ ทรงนิพนธ์วรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ รวมทั้งส่งเสริมด้านพละศึกษา และการฝึกอาวุธเพื่อป้องกันตัว และป้องกันบ้านเมือง
การศึกษาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัด และบ้านยังเป็นสถานที่สำคัญในการให้การศึกษา รัฐ และราชสำนักทำหน้าที่ควบคุมให้ความอุปถัมภ์ด้านการศึกษา มีพระเป็นครู เรียนวิชาหนังสือ เลขไทยโบราณ ปฏิสังขรณ์วัดพระ เชตุพนให้เป็นแหล่งรวมสรรพตำรา และมิชชันนารีเข้ามาพร้อมด้วยวิทยาการใหม่ๆ ทำให้การศึกษาไทยเริ่มตื่นตัวที่จะเรียนรู้ภาษา และวัฒนธรรมตะวันตกมากยิ่งขึ้น
การศึกษาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนกลาง มีความทันสมัย และสอดคล้องกับการปรับตัวกับชาวตะวันตก โดยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขยายการศึกษาให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง ทรงตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง และสำหรับราษฎร และตั้งโรงเรียนมูลศึกษาทั้งในกรุง และหัวเมืองทั่วไป ทรงตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีพระราชบัญญัติประถมศึกษาพุทธศักราช 2464 เป็นฉบับแรก ส่งผลให้มีการตั้งโรงเรียนประชาบาลทั่วประเทศ และทรงตั้งกระทรวงธรรมการต่อมาเปลี่ยนเป็นกระทรวงศึกษาธิการเพื่อดูแลการศึกษา ศาสนา และการพยาบาล
การศึกษาไทยได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาโดยลำดับถึงปัจจุบัน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษา และทุกรัฐบาลที่ผ่านมามีนโยบายส่งเสริม และพัฒนาการศึกษามาโดยตลอด และมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่โดยในปี 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศให้ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเป็นกฎหมายการศึกษาฉบับแรกของประเทศไทย ที่มุ่งพัฒนาคนบนพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ ที่เชื่อมโยงสถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา และสถาบันการศึกษาเข้าด้วยกันบนความเท่าเทียม และเสมอภาคในการเข้ารับการศึกษาของคนไทยทุกคนให้มีความรู้คู่คุณธรรม และจริยธรรมอันดีงาม จัดหลักสูตรการเรียนการสอนด้วยความยืดหยุ่น และสอดคล้องกับผู้เรียนทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย และในปี 2552 ประเทศไทยมีนโยบายการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง มีกรอบแนวทางการปฏิรูปการศึกษา 4 ประการ คือ พัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ พัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่ พัฒนาคุณภาพสถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ และพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่ เพื่อมุ่งเน้นให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพอย่างแท้จริง
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงจัดทำโครงการประกวดภาพถ่าย และภาพจิตรกรรม ในหัวข้อ “การศึกษาไทย” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมเสนอแนวความคิด ประสบการณ์ และมุมมองเกี่ยวกับการศึกษาไทย โดยใช้ภาพถ่าย และภาพจิตรกรรม บรรยายบอกเล่าความรู้สึก ดังคำกล่าวที่ว่า “ภาพหนึ่งภาพแทนคำล้านคำ” สามารถสื่อความหมายได้กว้างไกล ไร้ขอบเขตทางความคิด เกิดความหลากหลายในการสร้างสรรค์ จึงนับเป็นสิ่งที่สามารถสะท้อนการศึกษาไทย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา และส่งผลถึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในสังคม
วัตถุประสงค์
เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้มีส่วนร่วมเสนอแนวคิด ประสบการณ์ และมุมมองเกี่ยวกับการศึกษาไทย ผ่านภาพถ่าย และภาพจิตรกรรม เพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองไปสู่เป้าหมายได้อย่างดียิ่ง โดยเน้นในเรื่อง การพัฒนาคุณภาพคนไทยยุคใหม่ การพัฒนาคุณภาพครูยุคใหม่ การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา และแหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ และการพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการใหม่
กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนทั่วไป
ประเภทของภาพถ่าย
เงื่อนไขข้อกำหนดในการส่งภาพถ่ายเข้าประกวด
- เป็นผลงานภาพถ่ายในหัวข้อ “การศึกษาไทย” ซึ่งเป็นภาพที่สะท้อนถึงการศึกษาของไทย ในมุมมองของผู้ส่งเข้าประกวด
- เป็นผลงานที่ถ่ายภาพด้วยกล้องบรรจุฟิล์มหรือกล้องดิจิตอล เท่านั้น
- ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดจะต้องมีขนาดภาพ 12 x 18 นิ้ว ติดบนกระดาษแข็งสีขาว ขนาด 16 x 22 นิ้ว เพียงขนาดเดียวเท่านั้น พร้อมทั้งส่งฟิล์มหรือไฟล์ภาพที่บันทึกลงแผ่นซีดี/ดีวีดี มาพร้อมภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวด
- ภาพถ่ายที่ส่งเข้าประกวดจะต้องเป็นภาพที่ถ่ายผ่านกล้อง ซึ่งไม่ผ่านการปรับแต่งจากคอมพิวเตอร์ และต้องไม่เคยได้รับรางวัลหรือตีพิมพ์มาก่อน
- ส่งผลงานได้ไม่เกิน 5 ภาพ และต้องเป็นภาพที่ถ่ายด้วยตนเอง ห้ามมิให้ส่งผลงานในนามผู้อื่น หากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาตรวจพบว่านำผลงานของผู้อื่นมาแอบอ้าง จะตัดสิทธิ์รางวัลที่ได้รับทันที
- ผู้ส่งผลงานต้องอธิบายแนวคิดภาพผลงานโดยสังเขป และชื่อผลงานซึ่งมีความยาวไม่เกิน 20 พยางค์ พร้อมกรอกแบบฟอร์มกำกับผลงานที่กำหนดให้ชัดเจน 1 ภาพ/ 1 ใบ ได้แก่ อุปกรณ์การถ่ายภาพ เทคนิค สถานที่ และแนวคิด เขียนไว้ที่กระดาษแข็งสีขาวด้านหลังภาพที่ส่งเข้าประกวด
- ผู้ส่งผลงานต้องรับผิดชอบ หากผลงานนั้นละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิ์อื่นใดของบุคคลอื่น
- ผลงานที่ผ่านเข้ารอบ และได้รับรางวัลทุกชิ้นถือเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
- ผลการตัดสินของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาถือเป็นที่สุด จะอุทธรณ์มิได้ และสำหรับผลงานที่ไม่ได้รับรางวัลสามารถมาขอรับภาพคืนได้ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ภายในเดือนกันยายน 2553 หากไม่มารับในเวลาที่กำหนดถือว่าท่านสละสิทธิ์
ประเภทภาพจิตรกรรม
เงื่อนไขข้อกำหนดในการส่งผลงานประเภทภาพจิตรกรรม
- เป็นผลงานจิตรกรรมไม่จำกัดรูปแบบ และเทคนิคในหัวข้อ “การศึกษาไทย”
- ผลงานต้องมีขนาด 100 ซม. x 120 ซม. โดยประมาณ เป็นแนวตั้งหรือแนวนอนก็ได้ (ไม่รวมกรอบ)
- ส่งผลงานได้ไม่เกินคนละ 3 ภาพ ต้องเป็นผลงานที่สร้างสรรค์ใหม่ด้วยตนเอง และไม่เคยส่งเข้า
ประกวดหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนมาก่อน
4. ผู้ส่งผลงานต้องกรอกแบบฟอร์มกำกับผลงานที่กำหนดให้อย่างชัดเจน พร้อมอธิบายแนวคิดของ
ผลงานที่สร้างสรรค์โดยสังเขป
5. ผู้ส่งผลงานต้องรับผิดชอบ หากผลงานนั้นละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิ์อื่นใดของบุคคลอื่น
6. ผลงานที่ส่งเข้าประกวดทุกชิ้นสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มีสิทธิ์ในการนำไปเผยแพร่ในสื่อ
สิ่งพิมพ์ และสื่อสารสนเทศสมัยใหม่ได้ทุกรูปแบบ
7. ผลงานที่ได้รับรางวัลทุกรางวัลเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
8. ผลการตัดสินของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาถือเป็นที่สุด จะอุทธรณ์มิได้ และสำหรับผลงานที่
ไม่ได้รับรางวัลสามารถขอรับคืนได้ที่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาภายในเดือนกันยายน 2553
หากไม่มารับตามที่กำหนดถือว่าท่านสละสิทธิ์
9. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จะรับผิดชอบผลงานที่ส่งเข้าประกวดอย่างดีที่สุด ยกเว้นความ
เสียหายอันเกิดจากเหตุสุดวิสัยต่าง ๆ
เงินรางวัลรวมทั้งสิ้น 315,000 บาท (สามแสนหนึ่งหมื่นห้าพันบาท)
รางวัลการประกวดภาพถ่ายหัวข้อ “การศึกษาไทย”
แบ่งออกเป็น 13 รางวัล ดังนี้
รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 30,000 บาท
รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 15,000 บาท
รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 10,000 บาท
รางวัลชมเชย 10 รางวัล ๆ ละ 5,000 บาท
รางวัลการประกวดภาพจิตรกรรมหัวข้อ “การศึกษาไทย”
แบ่งออกเป็น 13 รางวัล ดังนี้
รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 50,000 บาท
รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 35,000 บาท
รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 25,000 บาท
รางวัลชมเชย 10 รางวัล ๆ ละ 10,000 บาท
(หมายเหตุ : มูลนิธิเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยสนับสนุนรางวัลชมเชยภาพจิตรกรรม จำนวน 50,000 บาท)
สถานที่ส่งผลงาน
ผู้สนใจสามารถส่งผลงาน และใบสมัคร (ขาดอย่างหนึ่งอย่างใด สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ขอสงวนสิทธิ์ไม่พิจารณา) มาได้ที่ ศูนย์ประชาสัมพันธ์การศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 99/20 ถนนสุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 วงเล็บมุมซอง การประกวดภาพถ่ายหรือภาพจิตรกรรมหัวข้อ “การศึกษาไทย”
หมดเขตรับผลงาน
ระยะเวลาส่งภาพถ่าย และภาพจิตรกรรมเข้าประกวด
- ทางไปรษณีย์ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2553 โดยถือวันที่ประทับตราไปรษณียากร ต้นทาง
- ส่งผลงานด้วยตนเองระหว่างวันที่ 15 – 30 มิถุนายน 2553 กรณีที่มาส่งด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมาส่งแทน โดยจะต้องมาส่งในวัน และเวลาราชการ ณ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 99/20 ถ.สุโขทัย แขวง/เขตดุสิต กรุงเทพฯ
ประกาศผลการประกวด
- ประกาศผลผู้ได้รับรางวัลการประกวดภาพถ่าย และภาพจิตรกรรมหัวข้อ “การศึกษาไทย” ทางเว็บไซต์ www.onec.go.th ภายในวันที่ 19 กรกฎาคม 2553 (ผู้ที่ได้รับรางวัลจะได้รับการติดต่อจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา)
- จัดการแถลงข่าว และพิธีมอบรางวัลในวันพุธที่ 18 สิงหาคม 2553 พร้อมจัดนิทรรศการแสดงผลงาน ที่ได้รับรางวัล และผลงานเข้ารอบสุดท้าย ตั้งแต่วันที่ 18 – 29 สิงหาคม 2553 ณ หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร
ข้อมูลเพิ่มเติม
ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัคร และข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.onec.go.th สอบถามรายละเอียด โทรศัพท์หมายเลข 02-668-7123 ต่อ 1116-7 ในวัน และเวลาราชการ
ผู้รับผิดชอบโครงการ
ศูนย์ประชาสัมพันธ์การศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยนโยบาย และวางแผนการศึกษาของชาติ เปิดโอกาสให้กลุ่มเป้าหมายทั้งนักเรียน นิสิต/นักศึกษา ครู/อาจารย์ และประชาชนทั่วไป ได้ร่วมเสนอแนวคิดมุมมอง และสร้างสรรค์ผลงานของตนที่มีต่อการศึกษาไทยผ่านภาพถ่าย และภาพจิตรกรรม อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้สังคมทุกภาคส่วนเกิดความตระหนัก และเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองไปสู่เป้าหมายได้อย่างดียิ่ง
ที่มา สกศ.
- เข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น