‘อนาคตอยู่ที่มือเรา’ มูลนิธิเอสซีจีเปิดตัวอาชีวะฝีมือชนคนเก่ง ตัวแทนประเทศไทยแข่งจัดดอกไม้บนเวทีโลก
มูลนิธิเอสซีจีจัดกิจกรรมเวิร์คช็อปจัดดอกไม้ภายใต้ชื่องาน “อนาคตอยู่ที่มือเรา...บนเส้นทางชีวิตที่โรยด้วยกลีบดอกไม้ของอาชีวะฝีมือชน” โชว์ศักยภาพนักเรียนอาชีวะฝีมือชน สาขาบริการ พร้อมเปิดตัวน้องป้อม ปราโมทย์ การัมย์ นักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ โดยมูลนิธิเอสซีจี ตัวแทนประเทศไทยไปร่วมแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 44 หรือ WorldSkills Abu Dhabi 2017สาขาการจัดดอกไม้ ที่กำลังจะจัดขึ้น ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
กิจกรรมเวิร์คช็อปสาธิตการจัดดอกไม้ที่มูลนิธิเอสซีจีจัดขึ้นในครั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้ นำเสนอข้อดี และภาพลักษณ์ที่ดีของการเรียนอาชีวะสาขาบริการ ให้สื่อมวลชนและสังคมเห็นโอกาสของบุคคลที่เรียนในสายนี้ และเพื่อสร้างความภาคภูมิใจ สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เรียนอาชีวะอีกด้วย ภายในงานมีแขกรับเชิญพิเศษหลายท่านมาร่วมพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์การเรียนอาชีวะ การส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียน โอกาสก้าวหน้าในอาชีพการงาน และเส้นทางอนาคตที่กำหนดเองได้ โดยผู้ร่วมเสวนาได้แก่คุณวรรณี โกมลกวิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน คุณวสุมดี อิ่มแก้ว ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา คุณพิทักษ์ หังสาจะระ นักออกแบบและนักจัดดอกไม้ระดับประเทศ คุณชยพล สิงหลักษณ์ เจ้าของรางวัลเหรียญเงิน สาขาการจัดดอกไม้ในการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 39 หรือ WorldSkills Shizuoka 2007 ณ จังหวัดชิซุโอะกะ ประเทศญี่ปุ่น และ น้องปราโมทย์ การัมย์ นักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ ตัวแทนประเทศไทยที่จะไปแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 44 หรือ WorldSkills Abu Dhabi 2017 ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นอกจากนี้ยังได้เนรมิตพื้นที่จัดงานเป็นห้องเวิร์คช็อปจัดดอกไม้ให้น้องๆ อาชีวะฝีมือชนที่มาร่วมงานได้แสดงฝีมือการจัดดอกไม้ร่วมกับพี่ๆ สื่อมวลชนด้วย
สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวถึงน้องๆ อาชีวะฝีมือชนว่า “มูลนิธิเอสซีจีตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างบุคลากรในสายช่างอุตสาหกรรมและสายบริการตลอดมา โดยเล็งเห็นว่าพวกเขาไม่ได้เป็นเพียงแค่เด็กอาชีวะ แต่พวกเขาคือฟันเฟืองที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ จึงได้มอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีความขยันหมั่นเพียร มีเกรดเฉลี่ยสะสม (GPA) ม.1 - ม.3 ไม่ต่ำกว่า 2.7 แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และสนใจศึกษาต่อด้านอาชีวะ ในสายช่างอุตสาหกรรมและสายบริการ ภายใต้โครงการ “อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ” มาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เรียนอาชีวะและเสริมสร้างทัศนคติอันดีของสังคมที่มีต่อผู้เรียนอาชีวะด้วย โดยทุนดังกล่าวเป็นทุนให้เปล่า ไม่มีภาระผูกพันต้องใช้คืน”
นอกจากนี้ สุวิมล ยังเสริมอีกว่า “จากการที่ได้สัมผัสน้องๆ นักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ กว่า 1,500 คน อย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมานั้น พบว่าเด็กอาชีวะไม่ได้เรียนแต่ทฤษฎีอย่างเดียว แต่ต้องลงมือปฏิบัติด้วย จึงทำให้น้องได้ฝึกฝนทักษะฝีมือจนชำนาญ และในระหว่างเรียนน้องก็สามารถหารายได้พิเศษจากทักษะฝีมือที่น้องมี ดูแลตัวเองได้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ปัจจุบันตลาดแรงงานคุณภาพมีความต้องการบุคลากรในสายอาชีวะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ยังมีผู้ให้ความสนใจเรียนด้านนี้ไม่มากนัก มูลนิธิฯ จึงพยายามผลักดันให้น้องๆ ค้นหาเส้นทางที่ตัวเองชอบ แล้วตัดสินใจเลือกทางเดินของตัวเอง และอยากให้สังคมรับรู้ว่า “อาชีวะฝีมือชน” คือ ผู้ที่เป็นนักคิดและนักปฏิบัติที่เชี่ยวชาญในสายวิชาชีพ ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์หรือสถาบันอาชีวะ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติไทย ยกตัวอย่างเช่น หากน้องๆ เรียนในสายบริการ ก็จะได้เรียนเรื่องการทำอาหาร การจัดดอกไม้ งานแกะสลัก ฯลฯ จะเห็นว่างานเหล่านี้เป็นงานที่ต้องใช้สมองและสองมือในการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง และยังต้องผสมผสานด้วยประสบการณ์ด้านศิลปะมาประยุกต์ใช้ด้วย งานเหล่านี้จึงไม่สามารถนำเทคโนโลยี หรือระบบอัตโนมัติใดๆ มาทดแทนบุคลากรได้ นับว่าเป็นสายอาชีพที่มีความสำคัญมากอีกสายหนึ่งเลยก็ว่าได้”
ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา มูลนิธิเอสซีจีมุ่งมั่นสื่อสารให้สังคมได้เห็นถึงฝีมือและทักษะความชำนาญของน้องๆ ที่กำลังศึกษาในสายอาชีวะอย่างต่อเนื่อง จากเว็บไซต์ JobThai.com เมื่อต้นปี 2560 ได้เผยข้อมูลว่าสาขาอาชีพเกี่ยวกับงานบริการมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องสูงถึง 17% ซึ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริการขยายตัวดีตามไปด้วย
นอกจากการให้ทุนการศึกษาแล้ว มูลนิธิฯ ยังให้การสนับสนุนต่อยอดความสามารถของน้องนักเรียนทุนฯ ด้วย โดยในปี 2560 นี้ ได้สนับสนุนนักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ 2 คน ได้แก่ นายปราโมทย์ การัมย์ และ นายพงศกร พราหมเกษม เข้าร่วมแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 44 หรือ WorldSkills Abu Dhabi 2017 ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในสาขาการจัดดอกไม้และสาขาการก่ออิฐ ตามลำดับ โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นผู้คัดเลือกและดูแลน้องๆ ในระหว่างเก็บตัวเพื่อแข่งขัน ไม่ว่าน้องๆ จะได้รับรางวัลหรือไม่ มูลนิธิเอสซีจีเพียงมุ่งหวังว่าการแข่งขันในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสบการณ์และพัฒนาฝีมือของน้องๆ ให้มากยิ่งขึ้น และจะเป็นก้าวสำคัญของอาชีวะฝีมือชนคนไทยที่จะแสดงศักยภาพให้ชาวต่างชาติได้เห็นฝีมือ ความสามารถที่มีคุณภาพทัดเทียมชาติอื่นๆ
ด้าน วรรณี โกมลกวิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนามาตรฐานและทดสอบฝีมือแรงงาน ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติว่า “จุดประสงค์ของการเข้าร่วมแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ก็เพื่อแสดงความสามารถของฝีมือชนชาวไทยให้เป็นที่ประจักษ์ ทั้งเป็นการจูงใจให้เยาวชนเห็นความสำคัญของทักษะฝีมือที่สามารถยึดเป็นอาชีพได้ นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นช่างฝีมือที่มีอยู่ในประเทศให้ยกระดับพัฒนาฝีมือของตนเอง โดยเยาวชนไทยที่จะสามารถไปแข่งขันในเวทีระดับโลกนี้ได้นั้น ต้องผ่านการคัดเลือกทั้งระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ก่อนจะเป็นตัวแทนประเทศไปแข่งขันในระดับอาเซียน เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนไปแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติต่อไป ที่ผ่านมาตัวแทนประเทศไทยทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการย้ำคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นของอาชีวะฝีมือชนของไทยเป็นอย่างดี ทั้งนี้ในการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 44 หรือ WorldSkills Abu Dhabi 2017 นี้ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้นำเยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 26 คน เข้าร่วมแข่งขันใน 24 สาขา ซึ่งมีสาขาบริการหลายสาขารวมอยู่ในจำนวนนี้ เช่น สาขาการจัดดอกไม้ สาขาเสริมความงาม สาขาประกอบอาหาร สาขาบริการอาหารและเครื่องดื่ม สาขาแต่งผม เป็นต้น จากการเก็บตัวฝึกซ้อมพัฒนาทักษะฝีมืออย่างเข้มข้น เชื่อว่าน้องๆ ที่ร่วมแข่งขันจะทำผลงานที่โดดเด่นคว้ารางวัลมาให้ประเทศไทยได้ภูมิใจอย่างแน่นอน”
ด้าน ปราโมทย์ การัมย์ หรือป้อม นักเรียนทุนอาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ โดยมูลนิธิเอสซีจี ตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ สาขาการจัดดอกไม้ ได้กล่าวถึงความพร้อมในการแข่งขันครั้งนี้ว่า “ผมเก็บตัวฝึกซ้อมเป็นเวลา 6 เดือน ที่บ้านอาจารย์วีนัส วัฒนะพงษ์ จ.นครปฐม สลับกับ กรุงเทพฯ ในระหว่างนี้มีพี่ๆ จากมูลนิธิเอสซีจีได้แวะเวียนมาให้กำลังใจตลอดทำให้ผมมีกำลังใจมาก ในช่วงเก็บตัวผมต้องฝึกฝน ลงมือซ้อมอย่างเป็นระบบ มีตารางการซ้อมในแต่ละวันอย่างเคร่งครัด บางครั้งก็มีการทดสอบจัดช่อดอกไม้แบบจับเวลาด้วย เพื่อทำเวลาให้ดียิ่งขึ้นตามโจทย์ที่อาจารย์ให้ ต้องซ้อมประมาณ 9-10 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งการเก็บตัวครั้งนี้ได้ความรู้เยอะมาก ได้เรียนรู้เกี่ยวกับชนิดของดอกไม้ ศาสตร์ด้านอื่นที่จะต้องนำมาผสมผสานกัน เช่น การออกแบบ การวาง-จับคู่สี การจัดโครงสร้างฯ บวกกับประสบการณ์ในการทำงานจริงของผมอีกประมาณ 6 ปี ตอนนี้ผมมีความมั่นใจมากขึ้นครับ และอยากจะขอให้ทุกคนช่วยส่งแรงใจเชียร์พวกเราอาชีวะฝีมือชนตัวแทนประเทศไทยทุกคนที่เข้าร่วมแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติในครั้งนี้ด้วยนะครับ พวกเราจะใช้หนึ่งสมองและสองมือนำทักษะฝีมือและประสบการณ์ที่ได้จากการเรียน การฝึกฝนไปใช้ในการแข่งขันครั้งนี้อย่างสุดความสามารถ อยากทำให้ประเทศไทยได้ภาคภูมิใจว่า ประเทศเรามีก็มีอาชีวะฝีมือชน ที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ครับ”
นอกจากนี้ ป้อม-ปราโมทย์ ได้เล่าอีกว่าคุณครูหลายท่านที่มาฝึกสอนตนนั้นล้วนเป็นผู้มีประสบการณ์มากและอยู่ในวงการนี้มานาน อาทิ ครูกอล์ฟ-พิทักษ์ หังสาจะระ นักออกแบบและนักจัดดอกไม้ระดับประเทศ ครูปอ-ชยพล สิงหลักษณ์ เจ้าของรางวัลเหรียญเงิน สาขาการจัดดอกไม้ ในการแข่งขันฝีมือแรงงานนานาชาติ ครั้งที่ 39 หรือ WorldSkills Shizuoka 2007 อาจารย์จากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์ที่วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ฯลฯ
ในเส้นทางสายอาชีพที่น้องอาชีวะฝีมือชนทุกคนได้เลือกเดินมานั้น ไม่ว่าจะเป็นสายช่างอุตสาหกรรม หรือสายบริการ น้องๆ ล้วนได้ผ่านของจริงและประสบการณ์ตรงที่ได้ฝึกปฏิบัติมาตั้งแต่ห้องเรียน อันมีส่วนเติมเต็มความสามารถ ฝึกปรือทักษะฝีมือ และสิ่งเหล่านี้พร้อมจะเป็นพลังผลักดันให้ทุกๆ คนที่มีความสามารถได้ก้าวไปถึงจุดสูงสุดที่ตัวเองใฝ่ฝันได้ เพราะ ‘อนาคตอยู่ที่มือเรา’