เชิญร่วมประกวดวาดภาพประกอบนิทรรศการ เรื่อง บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
เชิญร่วมประกวดวาดภาพประกอบนิทรรศการ เรื่อง บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
เงื่อนไขข้อกำหนดในการส่งเข้าประกวด
๑. ภาพวาดที่ส่งเข้าประกวดไม่จำกัดเทคนิคในการวาดทั้งวาดมือ และ คอมพิวเตอร์
๒. วาดภาพตามหัวข้อ ๑๐ จำนวนหัวข้อ ๆ ละ ๑ ภาพ (รวม ๑๐ภาพ)
เนื้อหาตามรายละเอียดด้านล่าง
๓. ผลงานงานที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่เคยได้รับรางวัลจากการประกวดใดๆ มาก่อน
และจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของคณะผู้จัดงาน คณะผู้จัดงานมีสิทธิ์ในการจัดพิมพ์
เผยแพร่ผลงานในเอกสารสิ่งพิมพ์ หนังสือที่ได้รางวัลจะจัดพิมพ์เพื่อเผยแผ่
เป็นธรรมทาน
๔. การตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นสิ้นสุด
๕. ผู้มีสิทธิ์ส่งผลงาน ประชาชนทั่วไป
๖. ส่งผลงานได้ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๔
๗. ประกาศผลเดือน กันยายน ๒๕๕๔ ทาง www.wednesdaythamma.com
๘. รับมอบรางวัล ณ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก
รางวัล
ชนะเลิศ จำนวน ๑ รางวัล ทุนการศึกษา ๕,๐๐๐ บาท
รองชนะเลิศ จำนวน ๑ รางวัล ทุนการศึกษา ๓,๐๐๐ บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร.๐๒-๓๐๘๐๑๘๙
หรือทางอีเมล์ admin@wednesdaythamma.com
-----------------------------------------------------------------------------------
เนื้อหาประกอบการวาด
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ คือ สิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ หรือกล่าวอย่างง่ายๆว่า
การกระทำที่เกิดเป็นบุญ เป็นกุศล แก่ผู้กระทำดังต่อไปนี้
๑. บุญสำเร็จได้ด้วยการบริจาคทาน (ทานมัย) คือการเสียสละนับแต่ทรัพย์ สิ่งของ เงินทอง
ตลอดจนกำลังกาย สติปัญญา ความรู้ความสามารถ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่น
โดยส่วนรวม รวมถึงการละกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ออกจากจิตใจ จนถึงการ
สละชีวิตอันเป็นสิ่งมีค่าที่สุดเพื่อการปฏิบัติธรรม
๒. บุญสำเร็จได้ด้วยการรักษาศีล (สีลมัย) คือการตั้งใจรักษาศีล และการปฏิบัติ
ตนไม่ให้ละเมิดศีล ไม่ว่าจะเป็นศีล ๕ หรือศีล ๘ ของอุบาสกอุบาสิกา ศีล ๑๐ ของ
สามเณร หรือ ๒๒๗ ข้อของพระภิกษุ เพื่อรักษากาย วาจา และใจ ให้บริสุทธิ์สะอาด
พ้นจากกายทุจริต ๓ ประการ คือ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ ละเว้นจากการลักทรัพย์
ละเว้นจากการประพฤติผิดในกาม อยากได้สมบัติของคนอื่น วจีทุจริต ๔ ประการ
คือไม่พูดส่อเสียดไม่พูดปด ไม่พูดเพ้อเจ้อ และไม่พูดคำหยาบ มโนทุจริต ๓ ประการ
คือ ไม่หลงงมงาย ไม่พยาบาท ไม่หลงผิดจากทำนองคลองธรรม
๓. บุญสำเร็จได้ด้วยการภาวนา (ภาวนามัย ) คือการอบรมจิตใจในการละกิเลส
ตั้งแต่ขั้นหยาบไป จนถึงกิเลสอย่างละเอียด ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นโดยใช้
สมาธิปัญญา รู้ทางเจริญและทางเสื่อม จนเข้าใจอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย
นิโรธ และมรรค เป็นทางไปสู่ความพ้นทุกข์ บรรลุมรรค ผล นิพพานได้ในที่สุด
๔. บุญสำเร็จได้ด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ (อปจายนมัย)
คือการให้ความเคารพ ผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณ ๓ ประเภท คือ ผู้มี วัยวุฒิ ได้แก่พ่อแม่
ญาติพี่น้องและผู้สูงอายุ ผู้มี คุณวุฒิ หรือคุณสมบัติ ได้แก่ ครูบาอาจารย์
พระภิกษุสงฆ์ และผู้มี ชาติวุฒิ ได้แก่พระมหากษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์
๕. บุญสำเร็จได้ด้วยการขวนขวายในกิจการที่ชอบ (เวยยาวัจจมัย) คือ
การกระทำสิ่งที่เป็นคุณงามความดี ที่เกิดประโยชน์ต่อคนส่วนรวม โดยเฉพาะทาง
พระพุทธศาสนา เช่น การชักนำบุคคลให้มาประพฤติปฏิบัติธรรม มีทาน ศีล ภาวนา
เป็นต้น ในฝ่ายสัมมาทิฎฐิ
๖. บุญสำเร็จได้ด้วยการให้ส่วนบุญ (ปัตติทานมัย) คือ การอุทิศส่วนบุญกุศล
ที่ได้กระทำไว้ ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งปวง การบอกให้ผู้อื่นได้ร่วมอนุโมทนาด้วย
ทั้งมนุษย์และอมนุษย์ ได้ทราบข่าวการบุญการกุศลที่เราได้กระทำไป
๗. บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนา (ปัตตานุโมทนามัย) คือ การได้
ร่วมอนุโมทนา เช่น กล่าวว่า “สาธุ” เพื่อเป็นการยินดี ยอมรับความดี และขอมี
ส่วนร่วมในความดีของบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าเราไม่มีโอกาสได้กระทำ ก็ขอให้ได้มี
โอกาสได้แสดงการรับรู้ด้วยใจปีติยินดีในบุญกุศลนั้น ผลบุญก็จะเกิดแก่บุคคล
ที่ได้อนุโมทนาบุญนั้นเองด้วย
๘. บุญสำเร็จได้ด้วยการฟังธรรม (ธัมมัสสวนมัย) คือ การตั้งใจฟังธรรม
ที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน หรือที่เคยฟังแล้วก็รับฟังเพื่อได้รับความกระจ่างมากขึ้น
บรรเทาความสงสัยและทำความเห็นให้ถูกต้องยิ่งขึ้น จนเกิดปัญญาหรือ
ความรู้ก็พยายามนำเอาความรู้และธรรมะนั้นนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์
สู่หนทางเจริญต่อไป
๙. บุญสำเร็จด้วยการแสดงธรรม (ธัมมเทสนามัย) คือ การแสดงธรรมไม่ว่า
จะเป็นรูปของการกระทำ หรือการประพฤติปฏิบัติด้วยกาย วาจา ใจ ในทางที่ชอบ
ตามรอยบาทองค์พระศาสดา ให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่บุคคลอื่น หรือการนำธรรม
ไปขัดเกลากิเลสอุปนิสัยเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น ให้เกิดความเลื่อมใส
ศรัทธา มาประพฤติปฏิบัติธรรมต่อไป
๑๐. บุญสำเร็จได้ด้วยการทำความเห็นให้ตรง (ทิฏฐุชุกัมม์) คือ
ความเข้าใจในเรื่อง บาป บุญ คุณ โทษ สิ่งที่เป็นแก่นสารสาระหรือที่ไม่ใช่แก่น
สารสาระ ทางเจริญทางเสื่อม สิ่งอันควรประพฤติสิ่งอันควรละเว้น
ตลอดจนการกระทำความคิดความเห็นให้เป็นสัมมาทิฏฐิอยู่เสมอ
บุญกิริยาวัตถุทั้ง ๑๐ ประการนี้ ผู้ใดได้ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือยิ่งมาก
จนครบ ๑๐ ประการแล้ว ผลบุญย่อมเกิดแก่ผู้ได้กระทำมากตามบุญที่ได้กระทำ
- เข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น